- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Wednesday, 07 September 2022 20:03
- Hits: 2280
CWT ฤกษ์ดีทำพิธีเบิกแม่พระธรณี ‘โครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน’ หวังอนาคตต่อยอดสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิง RDF
บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เดินหน้าโครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน หรือ โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF เต็มกำลัง!! ทำพิธีเบิกแม่พระธรณีหรือเปิดหน้าดินเรียบร้อย ส่งยานลูก ‘กรีน เพาเวอร์ 1’ หรือ GP1 เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่ เตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะฯ พร้อมนำเข้าเครื่อง BMH Technology จากฟินแลนด์ หวังอนาคตจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟจากเชื้อเพลิง RDF ทั้งหมด แบบนี้ได้ประโยชน์สองเด้งทั้งกำจัดขยะให้หมดไปและสนับสนุนให้เกิดพลังงานทดแทน ด้านบิ๊กบอส ‘วีระพล ไชยธีรัตต์’ ระบุพร้อมสนับสนุนโครงการขนาดไม่เกิน 10MW เพื่อเป็นไปตามแผนการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนและสร้างประโยชน์ต่อชุมชนสูงสุด
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำพิธีเบิกแม่พระธรณี “โครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน” หรือ โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งลงทุนโดย บริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) บริษัทย่อยของ CWT ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และคุณสุณี มังคลารัตนศรี ปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ และคุณทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด ร่วมพิธีเปิดหน้าดินครั้งนี้ด้วย
“บริษัทฯ มีความปิติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากเทศบาลนครนครสวรรค์ในการพัฒนาโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางในการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนของเทศบาลนครนครสวรรค์ ที่มีเป้าหมายในการกำจัดขยะตกค้างที่ฝังอยู่ในบ่อฝั่งกลบแห่งนี้กว่าล้านตัน และกำจัดขยะใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวันจากชุมชน และ Cluster ของเราอีกกว่าวันละ 400 ตันให้หมด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องไม่มีขยะเหลือตกค้างที่ต้องนำไปฝังกลบในแต่ละวันอีกต่อไป”
โดย GP1 ได้เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่และเตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ในทันที พร้อมทั้งได้นำเข้าเทคโนโลยี BMH ของประเทศฟินแลนด์เข้ามาอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินระบบเพื่อแปรรูปขยะทั้งหมดเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตาม Roadmap การจัดการขยะของประเทศ ที่ได้มีการกำหนดให้พื้นที่ที่มีขยะปริมาณมาก ควรทำการแปรรูปขยะ เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ทางเทศบาลนครนครสวรรค์ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ถึงความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการต่อเนื่องจากการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อให้ได้ศักยภาพในการจัดการขยะที่ได้มาตราฐาน และทำให้สามารถจัดการขยะได้หมดไปจริงๆ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดพลังงานทดแทน และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อีกด้วย
ทางเทศบาลนครนครสวรรค์จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรทำการศึกษาการนำ RDF ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งในส่วนของความเป็นไปได้ของโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน และประเด็นอื่นๆที่จำเป็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลจังหวัดนครสวรรค์ และมีการยื่นเรื่องเข้าจังหวัดแล้ว ปัจจุบันทางเทศบาลกำลังติดตามผลตอบรับอยู่อย่างใกล้ชิด โดยหากเป็นไปตามแผนของเทศบาลนครนครสวรรค์ที่จะนำ RDF ที่ได้ไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่และเทศบาล อาทิ กองทุนที่จัดตั้งขึ้น ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า การจ้างงานในพื้นที่ และเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานอย่างครบวงจร
กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวอีกว่า เพื่อความสอดคล้องและเป็นการต่อยอดจากการเป็นผู้บริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน บริษัทจะเริ่มดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ร่วมกับทางเทศบาลนครนครสวรรค์ควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ขนาดไม่เกิน 10.0 MW ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
A9289