- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 28 August 2022 16:50
- Hits: 2173
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย’ ที่ ‘BBB+’แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้ซึ่งบริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement – PPA) ระยะยาวภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ‘AAA/Stable’จากทริสเรทติ้ง)
และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ’BBB/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุนของบริษัทและจากกระบวนการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทที่ยังคงดำเนินอยู่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวช่วยทำให้รายได้มั่นคง
รายได้ของบริษัทประมาณ 75%-85% มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. รวม 296 เมกะวัตต์ระยะเวลา 25 ปี หรือคิดเป็น 41% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 167.6 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 23% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) ให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่ 1 ปีถึง 19 ปีอีกด้วย ในขณะที่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าและไอน้ำในสัดส่วนที่เหลือ
ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. นั้น กฟผ. จะซื้อไฟฟ้าจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำที่ระดับ 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้ารายอื่นก็มีสัญญาที่ระบุปริมาณการสั่งซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำด้วยเช่นกัน
ผลการดำเนินงานปี 2565 ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัท โดยในปี 2564 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลง 18.5% มาอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาถ่านหิน ทั้งนี้ ในปี 2564 ราคาดัชนีถ่านหิน Newcastle (Newcastle Coal Price Index) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 127.4% มาอยู่ที่ 138 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แม้ว่าโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายนั้นจะมีกลไกในการปรับราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ก็ยังมีความล่าช้าและมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ากับประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้อ้างอิงในโครงสร้างราคา
โดยราคาไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามราคาถ่านหินที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตที่จำหน่าย เปลี่ยนแปลงตามค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ซึ่งประกาศโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประมาณ 50% และอีก 20% จะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในค่าไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ที่อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย
ในขณะที่บริษัทใช้ถ่านหินประมาณ 40% ของค่าความร้อนทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ รวมทั้งใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 40% และใช้น้ำมันยางดำอีกประมาณ 20%
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมี EBITDA ลดลง 79% มาอยู่ที่ 509 ล้านบาทซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่มาจากการปรับดัชนีราคาถ่านหินและค่า Ft ที่ล่าช้า โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 นั้น กฟผ. ยังไม่ได้ประกาศราคาถ่านหินอ้างอิงที่จะนำมาใช้ในการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าซึ่งโดยปกติ กฟผ. จะประกาศในเดือนช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของแต่ละปีและจะให้มีผลย้อนหลังในการปรับใช้ในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ
ดังนั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 จึงอยู่บนพื้นฐานของราคาถ่านหินอ้างอิงที่ 109.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันซึ่งมีผลมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ส่วนค่า Ft ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่นั้นมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.0139 บาทต่อหน่วยสำหรับงวดเดือนมกราคมจนถึงเมษายน 2565 ซึ่งส่งผลทำให้ราคาไฟฟ้าเฉลี่ยที่บริษัทจำหน่ายให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น 120.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกเหนือจากผลกระทบที่มาจากต้นทุนเชื้อเพลิงแล้ว โรงไฟฟ้าของบริษัทยังมีดัชนีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำที่ 81.7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดดำเนินงานนอกแผนของโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งของบริษัทอีกด้วย
โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้กลับมาดำเนินงานตามปกติในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า ดัชนีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83%-84% สำหรับทั้งปี 2565 และจะกลับไปอยู่ที่ระดับปกติที่ 84%-86% สำหรับปี 2566-2567
คาดว่าราคาขายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ราคาขายไฟฟ้าของบริษัทจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 กฟผ. ได้ประกาศราคาถ่านหินอ้างอิง Japanese Power Utilities (JPU) ที่ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งจะใช้เป็นราคาถ่านหินอ้างอิงในสูตรคำนวณค่าไฟฟ้าบริษัท จำหน่ายให้ กฟผ.ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ถึงมีนาคม 2566
ทั้งนี้ ราคาถ่านหินอ้างอิงดังกล่าวจะมีผลย้อนหลังไปถึงเดือนเมษษยน 2565 นอกจากนี้ ค่า Ft เฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 0.7054 บาทต่อหน่วยจากอัตราเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ที่ 0.0918 บาทต่อหน่วยอีกด้วย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาขายไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้และ EBITDA ของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ธุรกิจเอทานอลไม่เป็นไปตามคาด
ธุรกิจเอทานอลของบริษัทมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทหยุดดำเนินงานเนื่องจากประสบปัญหาทางเทคนิคในช่วงเปลี่ยนวัตถุดิบจากกากน้ำตาลมาเป็นมันสำปะหลังและกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2565
ซึ่งเป็นผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานลดลงเหลือ 44% ในปี 2564 จาก 72% ในปี 2563 และธุรกิจเอทานอลมี EBITDA ลดลงเหลือ 24 ล้านบาทในปี 2564 จาก 251 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 โรงงานเอทานอลมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 36% จนทำให้มี EBITDA ขาดทุนอยู่ที่ 52 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานเอทานอลจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ประมาณ 65% ในช่วงที่เหลือของปี 2565 หลังจากที่ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขแล้ว
มีแผนการลงทุนในอนาคต
บริษัทได้ปรับเพิ่มงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนเป็นประมาณ 9 พันล้านบาทสำหรับปี 2565-2567 โดยงบประมาณการลงทุนนี้มีแผนจะใช้สำหรับการซื้อกิจการของ Biomasse Energie d’Alizay (BEA) ที่มูลค่า 1.9 พันล้านบาท ใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำที่ประมาณ 3.2 พันล้านบาท ใช้ขยายโครงข่ายการจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมที่ประมาณ 365 ล้านบาท ใช้เพิ่มทุนใน ‘โครงการโรงไฟฟ้าบูรพา เพาเวอร์’ ที่จำนวน 426 ล้านบาท ใช้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประมาณ 1 พันล้านบาท รวมทั้งใช้ซ่อมบำรุงและขยายสายส่งและสถานีไฟฟ้าใน’สวนอุตสาหกรรม 304’ อีกประมาณ 2.1 พันล้านบาท
บริษัทซื้อกิจการของ BEA มาเมื่อเดือนเมษายน 2565 จาก DA Alizay SAS ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดย BEA ดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส BEA มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Electricite de France (EDF) ที่จำนวนไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายไฟฟ้าที่ขนาด 35 เมกะวัตต์ให้แก่ EDF โรงไฟฟ้าของ BEA เริ่มดำเนินงานในเดือนมกราคม 2564 และมี EBITDA ประมาณ 6 ล้านยูโร (หรือประมาณ 217 ล้านบาท) ในปี 2564
บริษัทมีแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำในสวนอุตสาหกรรม 304 ด้วยกำลังการผลิตรวมประมาณ 150 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันโครงการระยะแรกที่ขนาด 60 เมกะวัตต์กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและคาดว่า จะเริ่มผลิตไฟฟ้าจำนวน 10 เมกะวัตต์แรกได้ในเดือนตุลาคม 2565
บริษัทคาดว่า จะรับรู้ EBITDA ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปีจากการการประหยัดต้นทุนค่าพลังงาน โดยจะสามารถลดการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งจากการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่า ประโยชน์ที่จะเกิดจากโครงการดังกล่าวน่าจะเห็นผลอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปเมื่อกำลังการผลิตทั้งหมด 150 เมกะวัตต์ทำการจ่ายไฟฟ้าได้ครบ
สถานะทางการเงินจะดีขึ้นในปี 2566
ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่งครึ่งหลังของปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 ได้สร้างแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 หมื่นล้านบาทโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 63% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 9.5 เท่า (ปรับปรุงด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า ในปี 2565 บริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 2.5-3.0 พันล้านบาทเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าค่าไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจึงน่าจะเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 5-6 เท่าในปี 2565
และหลังจากนั้น EBITDA จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 เนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าราคาถ่านหินและพลังงานอื่นๆ จะลดลงสู่ระดับปกติและกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นจากการปรับราคาขายไฟฟ้าที่จะลดลงช้ากว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 เท่าในช่วงปี 2566-2567 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-60% ในช่วงเดียวกัน
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
บริษัทน่าจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสมตลอดระยะเวลาประมาณการ โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทได้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ก่อนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 ที่มูลค่า 2.97 พันล้านบาทโดยการใช้สิทธิในการไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ก่อนครบกำหนด (Call Option) ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในระยะ 12 เดือนข้างหน้าแต่อย่างใด
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 1.7 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 และเมื่อรวมกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 2.8-3.2 พันล้านบาทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าแล้วก็น่าจะเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายนและตุลาคม 2565 รวม 1.35 พันล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อขอรับวงเงินสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 1.92 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันมูลค่า 1.85 หมื่นล้านบาทและเงินกู้ไม่มีหลักประกันจำนวน 677 ล้านบาท โดยหนี้คงค้างทั้งหมดเป็นหนี้ของบริษัทเอง ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 83%-84% ในปี 2565 และ 84%-86% ในช่วงระหว่างปี 2566-2567
- EBITDA คาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 2.5-3.0 พันล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567
- ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
- อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5-6 เท่าในปี 2565 และจะปรับดีขึ้นโดยลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 เท่าในช่วงปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทและจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามแผน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถจัดหาลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมมาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแทนสัญญาที่มีกับ กฟผ. ซึ่งกำลังจะทยอยหมดอายุลงได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านั้นมีค่อนข้างจำกัด ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่ผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีสาระสำคัญหรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยการใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าที่ประมาณการไว้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
NPS242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,383.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
NPS24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
NPS258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,298.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
NPS265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
NPS265B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
NPS273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
NPS27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
NPS28NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
BBB+ |
NPS295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html