- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Monday, 22 August 2022 17:45
- Hits: 2445
HL จัดประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกรประจำปี 2565 ‘กิน อยู่ อย่างไร ให้ปลอดภัย และห่างไกลภาวะลองโควิด’ เติมเต็มความรู้ ส่งเสริมทักษะวิชาชีพให้เภสัชกร
บมจ. เฮลท์ลีด (HL) ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกรประจำปี 2565 เรื่อง เปิดประตูสู่มิติความรู้เภสัชกรชุมชน ในหัวข้อ “กิน อยู่ อย่างไร ให้ปลอดภัย และห่างไกลภาวะลองโควิด” ในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ เพื่อรับรองหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ให้แก่เภสัชกร รวมถึงให้ความรู้และส่งเสริมทักษะทางวิชาชีพ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการประเมินอาการต่างๆ ที่พบ ทำให้สามารถเลือกจ่ายยาและให้คำแนะนำแก่ผู้มารับบริการได้อย่างเหมาะสม
ภก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) HL ธุรกิจร้านขายยาค้าปลีกในรูปแบบ Chain Drug Store ภายใต้แบรนด์ร้านขายยา iCare, Pharmax, vitaminclub และ Super Drug เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด (Icare Health Company Limited) (ไอแคร์ เฮลท์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้จัดประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกร ประจำปี 2565 เรื่องเปิดประตูสู่มิติความรู้เภสัชกรชุมชน ในหัวข้อ “กิน อยู่ อย่างไร ให้ปลอดภัย และห่างไกลภาวะลองโควิด” ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาวะลองโควิดในผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยกลุ่มพิเศษคือเด็กและผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสุขภาพโดยวิตามินและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ และการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน
“ร้านยาเป็นหน่วยให้บริการด้านสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชน เภสัชกรชุมชน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำร้านยาจึงต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย เป็นปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประกอบการประเมินความผิดปกติทางกายและสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ และพิจารณาเลือกจ่ายยาหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตามหลักวิชาการและการบริบาลผู้ป่วยในร้านยา นอกจากนี้ในสภาวการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าความรุนแรงขณะที่มีอาการป่วยเฉียบพลันจะมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบรายงานภาวะ post-acute and long-term complication of COVID-19 หรือที่รู้จักโดยทั่วไปคือภาวะลองโควิด (long-COVID) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้เรื่องการป้องกันการติดต่อโรคโควิด-19 และการดูแลฟื้นฟูสุขภาพทั้งก่อนและหลังการเป็นโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเภสัชกร ในการให้คำแนะนำกับผู้ป่วย” ภก.ธัชพล กล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้เภสัชกรที่ปฏิบัติงานประจำร้านขายยา สามารถนำองค์ความรู้และทักษะต่างๆ จากโครงการฯนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจการประเมินอาการต่างๆ ที่พบ ทำให้สามารถเลือกจ่ายยาและให้คำแนะนำแก่ผู้มารับบริการได้อย่างเหมาะสม
ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการประชุมในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย เภสัชกรจำนวน 100 คน
A8824