- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 21 August 2022 20:08
- Hits: 2415
ฟิทช์ คงอันดับเครดิต บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ที่‘A-(tha)’
ฟิทช์ เรทติ้งส์ – กรุงเทพ – 17 สิงหาคม 2565 : บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ ฟิทช์ ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวให้แก่หุ้นกู้ชุดใหม่ ซึ่งไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ จำนวนไม่เกิน 1.2 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี ที่ ‘A-(tha)’
เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด และใช้สำหรับการลงทุน ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ และ ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EPG เช่นเดียวกันกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่นๆ ของบริษัทฯ
อันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของบริษัทฯ ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพแม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้น และความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ซึ่งมีการกระจายตัวของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากหลากหลายภูมิภาค
ทั้งนี้ ฟิทช์ประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินของ EPG จะปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ 4 Way Suspension Products Pty Ltd (4WS) ในเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทฯ ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้ถูกจำกัดจากขนาดธุรกิจที่เล็ก เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบอันดับเครดิตที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าการลงทุนใน 4WS ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์กันสะเทือนสำหรับรถยนต์ (Suspension) ในประเทศออสเตรเลีย มูลค่า 75 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียนั้น จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EDITDA) สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.3 เท่าในปีงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 และปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.2 เท่าในปีงบการเงิน 2567 (ปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ 0.5 เท่า)
ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มจะลดความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบอันดับเครดิตของบริษัทฯ ซึ่งถ้าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์อาจจะพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้
ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่มีความยืดหยุ่น: ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการแผนการลงทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอยู่ในระดับที่ต่ำ ประมาณปีละ 100 ล้านบาท และความต้องการในการขยายกำลังผลิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หรือประมาณร้อยละ 60 ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยนี้จะช่วยสนับสนุนบริษัทฯ ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ: ฟิทช์ คาดว่า รายได้ของ EPG จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9 ในปีงบการเงิน 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานฉนวนยางแห่งใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการในตลาดที่สูงจากธุรกิจโรงพยาบาลและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการ 4WS จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ จำนวน 700 ล้านบาทถึง 1 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ฟิทช์ประมาณการว่า รายได้จากธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ปัจจุบัน (ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด) จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของการผลิตรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง การเติบโตของรายได้จากธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ประมาณร้อยละ 24 ของรายได้ทั้งหมด) จากความต้องการในการใช้บริการจัดส่งอาหารที่ยังคงสูง และธุรกิจท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น
EPG มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการที่บริษัทฯ มีอำนาจต่อรองราคากับคู่ค้าที่ค่อนข้างดี
ฟิทช์ คาดว่า อัตราส่วนกำไรดังกล่าวจะปรับตัวลดลงเหลือประมาณร้อยละ 16 ในปีงบการเงิน 2566 จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงิน 2566 รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่สูง
และอัตราส่วนกำไรดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 17 ในปีงบการเงิน 2567 จากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานฉนวนยางแห่งใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า และธุรกิจใหม่ในประเทศออสเตรเลียที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ค่อยๆ ปรับตัวลดลงตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันโลก
การเข้าซื้อกิจการเพิ่มผลิตภัณฑ์และฐานลูกค้า: การลงทุนของ EPG ใน 4WS จะช่วยขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์ จากปัจจุบันที่ผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์จากโพลีเมอร์ (polymer) และเพิ่มความหลากหลายของฐานลูกค้า
นอกจากนี้ ฟิทช์ คาดว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อบริษัท เช่นมีการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่ดีขึ้น และมีการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดในต่างประเทศอีกด้วย
ความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และธุรกิจปลายทาง: EPG มีผลิตภัณฑ์ที่กระจายตัวไปในหลายธุรกิจ ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจรถยนต์และธุรกิจก่อสร้าง และอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ต่ำและการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม
โดยธุรกิจของ EPG ได้ส่งเสริมและรับประโยชน์ร่วมกัน จากการจัดหาวัตถุดิบ และการวิจัยและการพัฒนา เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีโพลีเมอร์และสารพลาสติกเป็นวัตถุดิบเหมือนกัน
ผู้นำในธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market): EPG เป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถกระบะในประเทศไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มในการผลิตพื้นปูกระบะ (Bed Liner) ที่ใช้ระบบตัวยึดโดยไม่ต้องเจาะรูบนตัวถังรถ (No-drilling Technology) เป็นรายแรกของโลก
ซึ่งทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตพื้นปูกระบะในประเทศไทย นอกจากนี้ EPG ยังเป็นผู้ผลิตหลังคารถกระบะ (Canopy) ที่ผลิตจาก Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) Alloy แบบ 2 ชั้น ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ เนื่องจากพลาสติกประเภท ABS เป็นพลาสติกที่บริษัทผลิตรถยนตร์นิยมใช้ จึงทำให้ EPG มีความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์นี้
EPG ยังเป็นผู้นำในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM) ของโลก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจฉนวนยางโลกประมาณร้อยละ 8-11
อย่างไรก็ตาม ยางสังเคราะห์ประเภท Nitrile Butadiene Rubber (NBR) ครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจฉนวนยางโลกมากที่สุด ที่ร้อยละ 90 เนื่องจาก NBR มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า มีการใช้แพร่หลายมากกว่า และมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับ EPDM
ฐานลูกค้าที่กระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ: EPG ขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ ประมาณร้อยละ 50-60 ให้กับผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer) และผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก
ในส่วนที่เหลือขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถในประเทศและต่างประเทศ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เอง สำหรับ ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น รายได้ประมาณร้อยละ 30 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้กับโครงการก่อสร้าง
โดยมีโรงงานผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นหลัก ในประเทศไทย และประเทศสหรัฐฯ สำหรับ ธุรกิจผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร รายได้ประมาณร้อยละ 90 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายในประเทศเป็นการขายให้กับบริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำ
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
EPG มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า EPG ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก คล้ายกับ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL
ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต โดยมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่าซึ่งช่วยลดทอนขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ทั้งสองบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ
สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ EPG มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกวัดจากรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า
แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA margin และสัดส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลต่อรายได้ (Free cash flow margin) ที่ดีกว่า ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัท มีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
รายได้เติบโตร้อยละ 3-9 ต่อปีในปีงบการเงิน 2566-2568 จากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตใหม่ในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการธุรกิจอุปกรณ์กันสะเทือนของยานยนต์ในประเทศออสเตรเลีย
- Operating EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 16-18 ต่อปี (ปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 17.8 และ ไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 15.6)
- งบการลงทุนประมาณ 4.1 พันล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2566-2568
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 65 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ คาดว่า ไม่น่าจะมีปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทฯ ในช่วง 24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากขนาดธุรกิจของ EPG มีขนาดเล็กกว่าบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรที่ได้จากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EDITDA) สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางธุรกิจหรือความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง ทำให้ EBITDA ลดลงอย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทฯ มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือน อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท
โดยประมาณร้อยละ 68 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินสำหรับเงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงินถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินที่สามารถยกเลิกได้ ประมาณ 4.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีความสามารถในเข้าถึงเงินกู้จากทั้งธนาคารในประเทศและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งสนับสนุนจากอันดับเครดิตของบริษัทฯ ที่ดี
ข้อมูลของบริษัท
EPG เป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวสำหรับเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย
EPG มีรายได้จากตลาดภายในประเทศประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด และจากตลาดต่างประเทศประมาณร้อยละ 60 ซึ่งรายได้จากต่างประเทศมาจากประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 20 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือมาจากภูมิภาคเอเซียและยุโรป
ติดต่อ
Primary Analyst
ชาลี ฉัตรเสถียรพงศ์
Associate Director
+66 2108 0162
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
Secondary Analyst
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล
Senior Director
+66 2108 0158
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
Committee Chairperson
Hasira De Silva, CFA
Senior Director
+65 6796 7240
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com