- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Monday, 08 August 2022 08:05
- Hits: 2078
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘ธ.อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย’ ที่ ‘AA’อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น ที่ ‘T1+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย) ที่ระดับ ‘AA’ และคงอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ ‘T1+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’
โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของธนาคารสำนักงานใหญ่ในประเทศมาเลเซียคือ RHB Bank Berhad อีกทั้งยังสะท้อนถึงสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ด้วย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย อยู่บนพื้นฐานการประเมินผลการดำเนินงานของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงของ RHB Bank Berhad จากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย การมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรและมีฐานเงินฝากที่อยู่ในระดับปานกลาง
การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย อันดับเครดิตจึงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซียด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
RHB Bank Berhad เป็นธนาคารขนาดกลางที่ดำเนินตามแผนกลยุทธ์ได้ดี
ทริสเรทติ้ง ประเมินสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk Profile) ของ RHB Bank Berhad โดยสะท้อนถึงการดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางที่มีความมั่นคงและมีความหลากหลายทางธุรกิจ ทั้งนี้ ธนาคารมีการดำเนินกิจการที่เข้มแข็งทั้งในธุรกิจตลาดทุน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจประกันภัยซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกต่างๆ อนึ่ง ธนาคารมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลักโดยมีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศในสัดส่วนค่อนข้างน้อยที่ประมาณ 9% ของรายได้รวมในปี 2564
ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา RHB Bank Berhad ได้ประกาศแผนกลยุทธ์ 3 ปีคือ ‘Together We Progress 2024’ (TWP24) โดยมุ่งเน้นโอกาสในการขยายธุรกิจผ่านความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากขึ้น สำหรับธุรกิจภายในประเทศนั้นประกอบด้วยกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่ง (Affluent) และมีฐานะดี (Mass Affluent) ตลอดจนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small- and Medium-Sized Enterprise -- SME) และกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังมองหาลู่ทางขยายธุรกิจไปในต่างประเทศโดยมุ่งเน้นตลาดเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในปี 2565 ธนาคารยังได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารดิจิทัลผ่านการร่วมทุนกับ Axiata Group Berhad (Axiata) ด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะได้ประโยชน์ 2 ประการจากกิจการดังกล่าว ได้แก่ ประการแรก ธนาคารดิจิทัลที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะเป็นส่วนต่อขยายการดำเนินงานของธนาคารดิจิทัลเดิมของ RHB Bank Berhad และประการที่สอง ธุรกิจธนาคารดิจิทัลจะช่วยให้ RHB Bank Berhad เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่คือธนาคารดิจิทัลในช่วงแรกนั้นจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธุรกิจเดิมของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารดิจิทัลคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2566
เงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้รับการค้ำจุนด้วยความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลาง
สถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ RHB Bank Berhad ยังคงเป็นจุดแข็งต่อสถานะเครดิตของธนาคาร ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET-1) ของธนาคารจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17% ในช่วงปี 2565-2566
เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 5% อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ RHB Bank Berhad มีอัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์รายอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซียโดยวัดจาก CET-1 หลังจากหักเงินปันผลที่ระดับ 16.8% ณ เดือนมีนาคม 2565 โดย CET-1 ของธนาคารซึ่งคิดเป็น 87% ของเงินกองทุนรวมนั้นสะท้อนถึงเงินกองทุนที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย
ปัจจัยที่ช่วยให้เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งประกอบไปด้วย 1) ผู้บริหารของธนาคารมีนโยบายที่สนับสนุนให้เงินกองทุนของธนาคารคงความแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันก็คงอัตราส่วนเงินปันผลให้อยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 30% 2) โครงการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ (Dividend Reinvestment Plan -- DRP) รอบล่าสุดที่ได้ดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2564 ได้เพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นคิดเป็นมูลค่า 976.1 ล้านริงกิต และ 3) น้ำหนักความเสี่ยง (Risk Weight) ที่ค่อนข้างต่ำของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยช่วยเสริมอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ผลกำไรของ RHB Bank Berhad ซึ่งวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return On Average Assets -- ROAA) อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ในประเทศมาเลเซีย ทริสเรทติ้งคาดว่า ROAA ของธนาคารจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 1.0% ในระหว่างปี 2565-2566 ตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งว่าอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin -- NIM) ของธนาคารจะฟื้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (Overnight Policy Rate -- OPR) ที่จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2.75%
รวมถึงความสูญเสียทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss --: ECL) ที่ยังคงระมัดระวังอยู่ที่ระดับ 35 จุด (Basis Points -- bps) และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio -- CIR) ที่ระดับ 45% ในปี 2565 ทั้งนี้ ธนาคารมี ROAA อยู่ที่ระดับ 0.94% ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.77% ในปี 2563 เนื่องจาก ECL มีแนวโน้มลดต่ำลงจากคำสั่งควบคุมการเคลื่อนย้ายสัญจรในรอบต่อๆ มา
มีมุมมองในเชิงบวกอย่างระมัดระวังต่อคุณภาพสินทรัพย์
ทริสเรทติ้ง คาดว่า คุณภาพสินทรัพย์ของ RHB Bank Berhad จะมีพัฒนาการในเชิงบวกอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยจะมีปัจจัยสนับสนุนจากสัดส่วนของสินเชื่อที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ตลอดจนการตั้งสำรองที่ระมัดระวัง และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ สินเชื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ของสินเชื่อรวมภายในประเทศของธนาคารในเดือนมีนาคม 2565 โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณสองในสามของสินเชื่อดังกล่าว
สินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือการชำระหนี้ (Repayment Assistance -- RA) ของ RHB Bank Berhad ลดลงสู่ระดับ 5% ของสินเชื่อรวมภายในประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 จากระดับ 12% ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 กลุ่มสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจนเนื่องจากผู้กู้ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้รายเดือนต่อได้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของคุณภาพสินเชื่อ SME ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างน่าจะใช้เวลานานกว่าเนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่ประสบกับปัญหาอุปสงค์ที่อ่อนแอและรายได้ค่าเช่าที่ลดต่ำลง ทั้งนี้ สินเชื่อ SME ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือการชำระหนี้อยู่ที่ระดับ 11% ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งลดลงจากระดับ 19% ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565
ทริสเรทติ้ง คาดว่า การตั้งสำรองแบบระมัดระวังจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ให้แก่ RHB Bank Berhad ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้โดยยกตัวอย่างการกลับมาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) สายพันธุ์ใหม่ๆ จนกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศมาเลเซียได้ เป็นต้น
การกลับมาเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ Stage-2 สู่ระดับ 7.27% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 หลังจากลดลงจากระดับ 10.45% ในปีก่อนยังสะท้อนถึงมุมมองแบบระมัดระวังของทริสเรทติ้ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า ECL ของธนาคารในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 35 จุดซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการเกิดโรคโควิด 19
ดังนั้น อัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารจึงยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 125.7% ณ เดือนมีนาคม 2565 สำหรับ ECL ของธนาคารในปี 2564 นั้นอยู่ที่ระดับ 29 จุดซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของธนาคารพาณิชย์รายอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซียอีกหลายราย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารลดลงสู่ระดับ 1.50% ในเดือนมีนาคม 2565 จากระดับ 1.66% ในปีก่อน
คงไว้ซึ่งกลยุทธ์ด้านแหล่งเงินทุน
RHB Bank Berhad ยังคงพัฒนาสถานะด้านแหล่งเงินทุนในฐานะธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านการขยายฐานเงินฝากในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่งรวมถึงกลุ่มลูกค้า SME และกลุ่มลูกค้าธุรกิจการค้า ทั้งนี้ กลยุทธ์ด้านแหล่งเงินทุนของธนาคารนั้นมุ่งเน้นการขยายฐานเงินฝากประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นอกเหนือจากช่องทางสาขาเดิม
ซึ่งรวมถึงช่องทางดิจิทัลและบัญชีเงินเดือน ธนาคารมีอัตราการเติบโตแบบปีต่อปีของเงินฝากรวมอยู่ที่ระดับ 3.9% ณ เดือนมีนาคม 2565 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเติบโตของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 29% ณ เดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากการขยายฐานของเงินฝากประจำ
ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากของธนาคารในช่วงเวลาดังกล่าวก็อยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกันโดยเงินฝากลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ระดับ 8.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.5% ณ เดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้ สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินรับฝากของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 88.9% ณ เดือนมีนาคม 2565
สภาพคล่องมีเพียงพอ
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 36% ณ เดือนมีนาคม 2565 เงินลงทุนส่วนใหญ่ของธนาคารประกอบด้วยเงินสด ตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง ตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน
นอกจากนื้ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคาร ณ เดือนมีนาคม 2565 นั้นก็อยู่ที่ระดับ 145% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด[1]
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นที่ระดับ ‘T1+’สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ยังต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยธนาคารจะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ ทั้งนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจาก ธปท. ก็ถือเป็นเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารด้วย นอกจากนื้ LCR ของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดอีกด้วย[2]
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’หรือ’คงที่’สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไป โดยทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าธนาคารจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดี มีสถานะเงินทุนที่เพียงพอ และมีสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้เช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย อาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่องของ RHB Bank Berhad มีความเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของ RHB Bank Berhad ในการปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และ/หรือความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตหนี้ระยะสั้น, 31 ตุลาคม 2550
ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (RHB Thailand)
อันดับเครดิตองค์กร: |
AA |
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น: |
T1+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
[1] > 100% ในประเทศมาเลเซีย
[2] > > 100% ในปี 2563 ในประเทศไทย