- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 07 August 2022 23:12
- Hits: 1897
ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค’ เป็น ‘BB’ จาก’BB+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ‘BB’ จาก ‘BB+’ โดยการลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ ‘มินบู’ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศเมียนมาหลังจากที่ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกคำสั่งให้ระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน การลดอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ว่า สัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการมินบูระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ที่น่าจะถูกเลื่อนออกไปอีก
อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอของบริษัทในตลาดเฟอร์นิเจอร์รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่มั่นคงผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยและตลาดส่งออกต่างๆ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้นของโครงการมินบู
ทริสเรทติ้ง คาดว่า โครงการมินบูน่าจะประสบกับความยากลำบากในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารกลางเมียนมาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ให้บริษัทท้องถิ่นระงับการชำระคืนเงินกู้ที่อยู่ในต่างประเทศนั้น
ทำให้ทริสเรทติ้ง มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่โครงการต่างๆในประเทศเมียนมานั้นจะไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เช่น สกุลเงินของรายได้ที่บริษัทจะได้รับ การชำระเงินให้แก่ผู้รับเหมาหรือผู้จำหน่ายอุปกรณ์ และการโอนเงินกลับมายังประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการมินบูระยะที่ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขนาด 50 เมกะวัตต์นั้นยังคงมีความล่าช้า โดยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับเงินกู้เนื่องจากการประเมินโครงการของผู้ให้กู้นั้นต้องหยุดชะงัก อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และความขัดแย้งภายในของประเทศเมียนมา ดังนั้น การก่อสร้างโครงการในเบื้องต้นนั้นจึงต้องใช้เงินกู้ยืมจากเจ้าของโครงการไปก่อน
ทริสเรทติ้ง มองว่า โอกาสที่โครงการมินบูจะได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างชาตินั้นน่าจะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเมียนมาในปัจจุบันและมาตรการล่าสุดของรัฐบาลเมียนมาที่จะควบคุมเงินต่างประเทศ
ทั้งนี้ หากไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภายนอก ทริสเรทติ้งมองว่าการพัฒนาโครงการในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 อาจมีแนวโน้มที่จะถูกเลื่อนออกไป ทั้งนี้ โครงการมินบูเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทซึ่งมีมูลค่ารวม 908 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 หรือคิดเป็นประมาณ 23% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท
มีความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอในตลาดเฟอร์นิเจอร์
สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงในฐานะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดกลางในประเทศไทย โดยบริษัทถือว่าเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างที่มีแบรนด์ของตัวเอง (Original Equipment Manufacturer – OEM) เนื่องจากยอดขายเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งของลูกค้า
ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเอาไว้ได้โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่บริษัทมีโรงงานเป็นของตนเองและมีการประหยัดจากขนาดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากการแข่งขันด้านราคาและอำนาจในการตั้งราคาที่จำกัดในตลาดเฟอร์นิเจอร์เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถอดประกอบได้ (Knockdown) และเน้นกลุ่มเป้าหมายในตลาดราคาระดับล่างจนถึงระดับกลาง
มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มั่นคงผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่
บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์หลักๆ ใน 2 ช่องทาง ได้แก่ การส่งออกและการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศ โดยลูกค้าส่งออกของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานและช่องทางเหล่านี้ยังถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของยอดขายของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 รายได้จากตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 64% ของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่รายได้จากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ 32% ของยอดขายทั้งหมด
ฐานลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น
สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของแหล่งรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ในตลาดญี่ปุ่นให้น้อยลง คำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและอินเดียนั้นก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2564 โดยสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% และ 8.7% ของยอดสั่งซื้อทั้งหมดตามลำดับ
ในขณะที่สัดส่วนยอดขายจากประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 40% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2564 และตลาดในประเทศไทยยังคงทำรายได้ในสัดส่วนประมาณ 37%-45% ของรายได้ทั้งหมด
ด้วยฐานของตลาดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าผลการดำเนินงานในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทน่าจะมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดในประเทศอินเดียมีศักยภาพในการเติบโตเนื่องจากลูกค้าสำคัญ ๆ เป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มที่ดีของตลาดการขายสินค้าออนไลน์
ผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่น่าจะคงตัว
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถรักษารายได้ไว้ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อปีในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทได้รับประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดจากแนวโน้มของการทำงานจากบ้าน (Work-from-Home Trend) ในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทในปี 2564 หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบปีต่อปี
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทน่าจะมีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทว่าการหดตัวของปริมาณจะได้รับการชดเชยจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงความคาดหมายการฟื้นตัวของอุปสงค์ในการปรับปรุงที่พักในอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เริ่มกลับมา
อย่างไรก็ตาม ราคาแผ่นไม้พาร์ติเคิลที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับต้นทุนค่าแรงและราคาพลังงานที่สูงขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ ทั้งนี้ อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12.6% ในปี 2564 และที่ระดับ 12.3% ในไตรมาสแรกของปี 2565
ทริสเรทติ้ง คาดว่า EBITDA Margin จากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจะลดลงเล็กน้อยแต่จะยังคงอยู่ที่ระดับ 12.0%-12.5% ในระหว่างปี 2565-2567 เนื่องจากบริษัทยังมีแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการประหยัดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
สัดส่วนภาระหนี้ที่สูงกว่าคาด
สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากโครงการมินบูไม่สามารถนำส่งกระแสเงินสดเพื่อช่วยลดภาระหนี้เงินกู้ได้ตามแผน โดยกระแสเงินสดจากโครงการระยะที่ 1 ทั้งหมดถูกนำไปใช้สำหรับการก่อสร้างโครงการระยะที่เหลือ
ในขณะเดียวกัน ภาระหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมแก่โครงการมินบู ในรูปแบบเงินกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นเพื่อนำมาใช้สนับสนุนการก่อสร้างโครงการในระหว่างที่รอการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน จากเหตุดังกล่าว จึงส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2565 จาก 8.8 เท่าในปี 2564
ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่า ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากแผนลงทุนของบริษัทและจากการคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าโครงการมินบูยังไม่น่าจะมีการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะอยู่สูงเกินกว่า 10 เท่าในช่วงระหว่างปี 2565-2566 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5%
ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความเป็นไปได้ที่สถานะการเงินของบริษัทจะฟื้นตัวน่าจะเกิดขึ้นเมื่อโครงการมินบูระยะที่ 1-4เสร็จสมบรูณ์และสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่
สภาพคล่องยังคงตึงตัว
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทนั้นจะมีจำนวนเกือบเท่ากับความต้องการในการใช้เงินในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 35 ล้านบาท รวมถึงประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานที่จำนวน 40-50 ล้านบาท และเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาอีกจำนวน 850 ล้านบาท
ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วย เงินชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 512.4 ล้านบาท เงินชำระคืนตั๋วแลกเงินและเงินกู้ธนาคารรวม 406.1 ล้านบาท และเงินปันผลอีกประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินลงทุนตามแผนของบริษัทจำนวน 200 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นคาดว่าจะต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภายนอก
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 2.14 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 1.83 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ประมาณ 85.6% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ที่ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของสิทธิในการเรียกร้องจากสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
- ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการมินบูจะเพิ่มขึ้นเป็น 68 ล้านบาทในปี 2566 และจะยังคงอยู่ในระดับเดิมหลังจากนั้น
- EBITDA Margin ซึ่งไม่รวมกระแสเงินสดจากโครงการมินบูจะอยู่ที่ระดับ 12%-12.5% ในช่วงปี 2565-2567
- เงินลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 233 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 80 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
- อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 30% ในระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะยังรักษาผลประกอบการได้คงเดิม ในขณะที่โครงการมินบูระยะที่ 2 จะก่อสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินงานได้ภายในปี 2566 และโครงการจะยังไม่มีการจ่ายเงินปันผลใดๆ จนกว่าโครงการโดยรวมจะแล้วเสร็จสมบรูณ์
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงการมินบูและทริสเรทติ้งประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงทางการเมือง และการควบคุมเงินทุนในประเทศเมียนมา ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงการ หรือหากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่อ่อนแอลง หรือมีการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้เพิ่มเติม หรือความล้มเหลวในการพัฒนาโครงการมินบู
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BB |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html