WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS7 12ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ ที่ ‘AAA’ แนวโน้ม’Stable’

     ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ’AAA’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของ กฟผ. และรัฐบาลไทยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานะของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย

      นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทยภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 (พ.ร.บ. กฟผ.) อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับสูง

     ทริสเรทติ้ง พิจารณาว่า กฟผ. มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยในระดับสูง โดยการประเมินนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลเป็นเจ้าของ กฟผ. แต่เพียงผู้เดียวและมีการควบคุมดูแล กฟผ. อย่างใกล้ชิด โดย กฟผ. ได้รับการจัดตั้งให้เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ พ.ร.บ. กฟผ. ซึ่ง กฟผ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ส่วนคณะกรรมการและผู้ว่าการของ กฟผ. นั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ในขณะที่แผนวิสาหกิจ กฟผ. ฉบับปัจจุบันนั้นมีการจัดทำเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580)

      และแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวซึ่งได้รวมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เข้าไว้ด้วยโดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาทบทวนแผนวิสาหกิจดังกล่าว

     ส่วนแผนค่าใช้จ่ายและการลงทุนของ กฟผ. นั้นมีกระทรวงพลังงานตลอดจนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบ ส่วนแผนการกู้เงินและชำระหนี้เงินกู้นั้นจะต้องเสนอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลังพิจารณาด้วย

      นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ พ.ร.บ. กฟผ. ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟผ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟผ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้

มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย

      ทริสเรทติ้ง คาดว่า กฟผ. จะยังคงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป จากโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ส่งผลให้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่ประเทศทั้งจากไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตเองและไฟฟ้าที่รับซื้อมาจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

      โดย ไฟฟ้าที่จัดหาได้นั้น กฟผ. จะจำหน่ายไฟฟ้าแบบขายส่งให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ ‘AAA/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) ประมาณ 71% และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ ‘AAA/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) อีก 27% ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (National Grid) ทั่วประเทศ ในฐานะที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของประเทศแต่เพียงผู้เดียว

      กฟผ. จึงเป็นผู้บริหารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center -- NCC) เพื่อบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าให้มีเพียงพอในราคาที่เหมาะสม สำหรับ ความต้องการของทั้งประเทศ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. นั้นล้วนอยู่ภายใต้การบริหารของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 46,719 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 52 แห่งโดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 15,520 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 33.2% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศในสัดส่วน 54.6% และนำเข้าจาก สปป. ลาวและประเทศมาเลเซียอีก 12.2%

โครงสร้างค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนและผลตอบแทน

ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าได้รับการออกแบบเพื่อให้ กฟผ. ได้รับการชดเชยเงินลงทุนรวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Invested Capital -- ROIC) ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า

นอกจากนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับราคาเชื้อเพลิงหรือราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้ค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ซึ่งจะคำนวณและประกาศการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือนโดย กกพ. อย่างไรก็ตาม ค่า Ft ที่จะส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้านั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กกพ. ว่าจะปรับในช่วงเวลาและที่อัตราเท่าใด ซึ่งอาจจะแตกต่างจากค่า Ft ที่คำนวณได้ตามโครงสร้างค่าไฟฟ้า

ดังนั้น กระแสเงินสดรับจากการจำหน่ายไฟฟ้าอาจจะไม่สอดคล้องกับค่าเชื้อเพลิงในงวดเดียวกัน กระแสเงินสดรับจากการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟผ. อาจจะน้อยกว่ารายได้ ถ้า กกพ. ปรับค่า Ft ไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าล่าช้าในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น และเป็นเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม 

คาดว่าหนี้จะเพิ่มขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง

ทริสเรทติ้ง คาดว่า กฟผ. จะมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 สะท้อนถึงความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง โดยภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นอัตราค่าขายไฟฟ้าของ กฟผ. จะอยู่ที่ประมาณ 3.80 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 2.73 บาทต่อหน่วยในปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวผ่านค่า Ft ไปยัง กฟภ. และ กฟน. เนื่องจากการตัดสินใจของ กกพ. ที่ต้องการช่วยบรรเทาเงินเฟ้อของประชาชนชาวไทย ดังนั้น กกพ. จึงกำหนดให้ กฟผ. สามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยจาก กฟภ. และ กฟน. ได้เพียง 2.69 บาทต่อหน่วยในปี 2564 และ 2.90 บาทต่อหน่วยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 เป็นเหตุให้ กฟผ. ต้องบันทึกรายการรายได้ค้างรับตามสูตรการปรับค่า Ft จำนวนประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565

ปัจจุบัน กฟผ. บริหารเงินส่วนใหญ่จากเงินสดในมือ เจ้าหนี้การค้า และเงินกู้ เพื่อรองรับรายการดังกล่าว โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 กฟผ. มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 42.6% จาก 39.1% ณ สิ้นปี 2563

สำหรับปี 2565

ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า กฟผ. น่าจะมีบันทึกรายการรายได้ค้างรับตามสูตรการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นเนื่องจากความล่าช้าในการปรับค่า Ft อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่า กกพ. จะค่อย ๆ ทยอยปรับค่า Ft เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลา 12-18 เดือน จึงจะสามารถชดเชยรายการคงค้างของค่า Ft ได้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการอีกว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นโดยอยู่ในช่วง 45%-50% ในปี 2565 ก่อนปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 40% ในปี 2567    

มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ของ กฟผ. เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนถึงปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าและเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างเงินทุนของ กฟผ. ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.92 แสนล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 จาก 3.13 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 42.6% ณ เดือนมีนาคม 2565 จาก 39.1% ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของ กฟผ. ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.9 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2565 จาก 2.7 เท่าในปี 2563 ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3-4 เท่าในระยะ 3 ปีข้างหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับระดับหนี้สินหมุนเวียนที่นำไปจ่ายค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง รวมถึงการตัดสินใจปรับค่า Ft ของ กกพ.

กฟผ. มีสภาพคล่องเป็นที่น่าพอใจ โดย กฟผ. มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาทรวมทั้งวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.5-8.0 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินสดและวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานของ กฟผ. แล้วถือว่าเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้ารวม 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ครบกำหนดด้วย

มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวัง

กฟผ. มีนโยบายด้านการเงินที่ระมัดระวังโดยมีการดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาวินัยทางการเงินด้วย โดยแนวทางที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย การรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financing Ratio) ที่ไม่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย

ทริสเรทติ้ง คาดว่า โครงสร้างไฟฟ้าของประเทศไทยจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการด้านเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและเชื่อมต่อถึงกันผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้

ดังนั้น โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ไปเป็นการผลิตแบบกระจายศูนย์ นอกจากนี้ แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือกระแสเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน (Renewable Source) มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่กระแสของการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) ในยานพาหนะและระบบขนส่งอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นนั้นก็น่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย

ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของ กฟผ. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ตามแผน PDP2018 Revision 1 นั้น ไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าตรงให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่ผ่านระบบสายส่งกลาง คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 17% ของการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 จากประมาณ 13% ในปี 2561

ในขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะมีกำลังการผลิตลดลงเหลือ 24% ของกำลังการผลิตในประเทศจาก 34% ในช่วงเดียวกัน แม้ทริสเรทติ้ง จะมองว่า บทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะลดลงไปบ้างในระยะยาว แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาและดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศต่อไป

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • ยอดขายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1%-2% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
  • EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
  • ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.3 แสนล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 โดยเป็นส่วนของ กฟผ. ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทย่อย
  • อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 เท่าในช่วงปี 2565-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟผ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงไป หรือบทบาทของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยลดความสำคัญลงไปจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,  26 กรกฎาคม 2562


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

อันดับเครดิตองค์กร:

AAA

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com  

ติดต่อ [email protected]  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

        © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง

       ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

 Click Donate Support Web  

 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!