- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Thursday, 28 April 2022 22:24
- Hits: 6172
POMPUI ศาลฎีกาได้พิพากษายืน 'ตระกูลโตทับเที่ยง'ขอแบ่งทรัพย์ โอนกรรมสิทธิ์หุ้น-ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง
สรุปคดีกงสีหรือธุรกิจครอบครัว 'ตระกูลโตทับเที่ยง'
ด้วยคดีศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ พ.2264/2559 คดีหมายเลขแดง ที่ พ.455/2561 ระหว่าง นายสุธรรม โตทับเที่ยง ที่ 1 นางสาวจุรี โตทับเที่ยงที่ 2 นางจุฬา โตทับเที่ยงที่ 3 นางจุรัตน์ โตทับเที่ยง ที่ 4 นายสลิล โตทับเที่ยง ที่ 5 นางสาวสุนีย์ โตทับเที่ยง ที่ 6 นางสาวศิริพร โตทับเที่ยง ที่ 7 นายเสริมสันต์ สินสุข ที่ 8 นายไกรลาภ โตทับเที่ยง ที่ 9 โจทก์ กับ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ที่ 1 นางอุทัยวรรณ โตทับเที่ยง ที่ 2 นางสาวขิมพริ้ง โตทับเที่ยง ที่ 3 นายไกรสิน โตทับเที่ยง ที่ 4 นางสาวกรพินธุ์ โตทับเที่ยง ที่ 5 นายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ที่ 6 จำเลย เรื่องกรรมสิทธิ์รวม เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกโอนหุ้นบริษัทกงสีจำนวน 21 บริษัทให้กับโจทก์ทั้ง 9 คนละ 1 ใน 10 ส่วน รวมไปถึงให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ถึง จำเลยที่ 6 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับโจทก์ทั้ง 9 คนละ 1 ใน 10 ส่วน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย ทั้งหกโอนหุ้นคนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน ของหุ้นในแต่ละบริษัทจำนวน 19 บริษัท และให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 6 โอนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 9 และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน และหากไม่สามารถโอนที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ ไม่ว่ากรณีใดให้จำเลยผู้ถือหุ้นชดใช้ราคาหุ้น และใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินแทน จำนวนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และราคาหุ้นให้เป็นไปตามบัญชีหุ้นและบัญชีที่ดิน หากไม่สามารถแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ทั้งเก้า
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาได้มีคำตัดสินให้จำเลยทั้งหกโอนหุ้นในบริษัททั้ง 19 บริษัทให้แก่โจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 10 ส่วนเท่าๆ กัน เท่านั้น ไม่มีการชำระเงินแทนหุ้น อีกทั้งศาลอุทธรณ์เห็นว่า ถึงแม้ที่ดินดังกล่าวจะนำเงินของบริษัทกงสีมาซื้อ แต่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ถึง จำเลยที่ 6 ใส่ชื่อแทนบริษัทกงสี แต่บริษัทกงสีเจ้าของเงินไม่ได้ร่วมฟ้องมาด้วย จึงให้ยกคำขอที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 มาแบ่งกันคนละ 1 ใน 10 ส่วน
ส่วนศาลฎีกาพิพากษาในส่วนของหุ้นในบริษัททั้ง 19 บริษัท โดยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และในส่วนของที่ดินให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาได้พิพากษายืน
โดยการดำเนินการต่อภายหลังมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งจดหมาย เพื่อให้จำเลยพร้อมกับพวกเข้ามาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาส่วนในเรื่องของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยพร้อมกับพวกเข้ามาร่วมพูดคุยเจรจากัน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนายสุธรรม โตทับเที่ยง ประธานกรรมการ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล (POMPUI) เปิดคำพิพากษาของศาลฎีกา’ตระกูลโตทับเที่ยง’ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.65 มีผลให้จำเลยทั้ง 6 คนที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัททั้ง 19 บริษัทไว้แทนกงสีโอนหุ้นในบริษัทให้กับบุคคลในตระกูลโตทับเที่ยงทั้ง 10 คนรวมถึงนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีด้วย โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 โอนหุ้นในบริษัททั้ง 19 บริษัทให้แก่โจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่หนึ่งคนละ 1 ใน 10 ส่วนเท่าๆกัน เช่นเดียวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิรวมของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีของตระกูลโตทับเที่ยง
นายสุธรรม กล่าวว่า หลังจากคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาแล้วก็ได้เตรียมเจรจาและจัดสรรหุ้นและที่ดินให้กับคนในตระกูลโตทับเที่ยงอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงในส่วนของนายสุรินทร์ จำเลยที่มีข้อพิพาท ซึ่งเป็นพี่น้องในตะกูลโตทับเที่ยงด้วยเช่นกัน ซึ่งคนในครอบครัวตระกูลโตทับเที่ยงพร้อมจะจัดสรรหุ้นและที่ดินอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวเข้ามาร่วมสานต่อธุรกิจของตระกูลต่อไป
“ความชัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความชัดแย้งเล็กน้อยที่เรามาเปิดใจคุยกันในครอบครัวได้ ผมเข้าใจว่าบางทีเราอาจจะคิดไม่ตรงกันบ้าง ทำให้เกิดความชัดแย้งขึ้น แต่ต้องใช้วิธีการหาทางออกที่ดีที่สุด ที่ได้ความเป็นธรรมกับทุกคน เมื่อเรื่องสรุปจบเรื่องแล้วก็อยากให้มาคุยกัน ในการจัดสรรและแบ่งหุ้นและที่ดิน ที่ทุกคนได้รับความเป็นธรรม และสามารถมาร่วมกันในการบริหารงานของครอบครัวได้ ซึ่งทุกคนยินดีเปิดกว้างให้คนในครอบครัวมาร่วมทำงานในธุรกิจของโตทับเที่ยง”นายสุธรรม กล่าว
สำหรับ ธุรกิจของ POMPUI ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวนั้น หลังจากมีคดีข้อพิพาทเกิดขึ้น ทำให้คนในครอบครัวโตทับเที่ยงไม่ได้เข้ามาดูแลและบริหารนานถึง 6-7 ปี ทำให้แบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” เงียบหายไปในตลาด แต่หลังจากเดือนพ.ย. 64 นายสุธรรม และคนในตะกูลโตทับเที่ยงส่วนหนึ่งได้เริ่มกลับมาดูแลธุรกิจอีกครั้ง ปัจจุบันได้ปรับโครงสร้างการบริหารด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารเมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และเตรียมเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากนั้นจะเดินหน้าขับเคลื่อนการตลาดอย่างจริงจังอีกครั้ง
พร้อมกันนั้น คณะผู้บริหารตั้งเป้าหมายนำหุ้น POMPUI กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เม.ย. 65 อนุมัติ โดยจะดำเนินการยื่นขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปลดเครื่องหมาย SP หลังจาก POMPUI ได้ส่งงบการเงินครบทุกไตรมาสแล้ว แต่ในเรื่องของระยะเวลาการปลด SP ขึ้นกับการพิจารณาของ ตลท. ซึ่งตระกูลโตทับเที่ยงทุกคนคาดหวังให้กลับมาเทรดได้เร็วที่สุด เพราะ POMPUI ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีแค่คนในครอบครัวโตทับเที่ยงเท่านั้น ยังมีนักลงทุนรายอื่นๆ อีกมาก
นางสาวกุลเกตุ โตทับเที่ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด POMPUI กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจ หลังจากทราบผลคำพิพากษาของคดี คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยภาพรวมของผฃการดำเนินงานในปี 65 คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่อการบริโภค รวมถึงการส่งออกมียอดขายที่เติบโตขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการขายในประเทศที่ 80% และสัดส่วนการส่งออก 20%