- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Tuesday, 29 March 2022 09:18
- Hits: 8161
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ซีเค พาวเวอร์’ ที่ ‘A,และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ ‘A-‘, แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ’A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A-‘ หุ้นกู้ของบริษัทมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากหุ้นกู้นี้มีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้างเมื่อเทียบกับเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดรับที่เชื่อถือได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต ‘AAA/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) และประวัติการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท อันดับเครดิตยังรวมถึงความคาดหวังว่า ระดับหนี้สินจะค่อยๆ ลดลง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำ และความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้ที่เชื่อถือได้
เงินลงทุนหลักในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง 2 แห่ง ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,003 เมกะวัตต์
โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีกำลังการผลิตคิดเป็น 83% ของกำลังการผลิตทั้งหมดหรือ 829 เมกะวัตต์ โดยบริษัทถือหุ้นใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรี กำลังการผลิตที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 2 แห่งขนาด 155 เมกะวัตต์ (15%) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 เมกะวัตต์ (2%)
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการชำระเงินและความเสี่ยงด้านตลาด ทั้งนี้ กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่โดยรับซื้อประมาณ 96% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือรับซื้อโดย Electricite Du Laos (EDL) กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ของประเทศไทย
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โครงการน้ำงึม 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของบริษัทมีความพร้อมในการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมได้ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างสม่ำเสมอ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำสร้างกำไรเป็นส่วนใหญ่
กำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นอย่างมาก ในปี 2564 บริษัท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท โดยประมาณ 2.9 พันล้านบาท (หรือประมาณ 64%) มาจากโครงการน้ำงึม 2 และ 296 ล้านบาท (หรือประมาณ 7%) มาจากโครงการไซยะบุรี โรงไฟฟ้าพลังน้ำมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่น เนื่องจากไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ส่งผลให้มีกำไรค่อนข้างสูงกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำมีโครงสร้างที่ดี
ความเสี่ยงที่สำคัญของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ คือ ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำ กำลังไฟฟ้าส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากในแต่ละปี ปริมาณน้ำที่ผันผวนสูงจะส่งผลต่อความแน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของกระแสเงินสดที่ใช้รองรับต้นทุนคงที่ได้
เพื่อลดความเสี่ยงของปริมาณน้ำที่มีความผันผวน สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทมีโครงสร้างสัญญาที่ช่วยทำให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณน้ำจะมีความผันผวน โดยสัญญาจะมีกลไกที่เอื้อให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก
ในขณะที่ปีแล้ง บริษัทก็จะได้รับค่าตอบแทนชดเชย และในกรณีที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัดๆ ไปได้
ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ
แม้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีกลไกช่วยลดความเสี่ยง แต่ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทยังคงมีความเสี่ยงสูงด้านอุทกวิทยา เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นสัดส่วนหลักในธุรกิจไฟฟ้าของบริษัท ภัยแล้งที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว เห็นได้จากรายได้ของโครงการน้ำงึม 2 ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโต
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนา ‘โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง’ (โครงการหลวงพระบาง) ในจังหวัดหลวงพระบางของ สปป. ลาว โครงการนี้ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-river) ขนาดใหญ่ในแม่น้ำแม่โขง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,460 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 42% ในบริษัทที่ดำเนินโครงการคือ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด บริษัทคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2565 และเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าได้ในปี 2573 ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทต้องใช้เงินลงทุนราว 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงที่พัฒนาโครงการ ปัจจุบัน บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในโครงการแล้ว 2.7 พันล้านบาท
มีความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว
การที่โรงไฟฟ้าหลักๆ ของบริษัทตั้งอยู่ใน สปป. ลาว จึงทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวก็ได้รับการบรรเทาลงได้ด้วยสัญญาสัมปทานที่มีกับรัฐบาล สปป. ลาว และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งใน สปป. ลาว มีข้อตกลงในการชำระค่าขายไฟฟ้า โดย กฟผ. ชำระค่าซื้อไฟฟ้าโดยตรงเข้าบัญชีรายได้ของโรงไฟฟ้าในประเทศไทย
นอกจากนี้ (EDL-Generation Public Company -- EDL-Gen) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป. ลาว ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของทั้งโครงการน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรีอีกด้วย ทริสเรทติ้ง คาดว่า โครงการหลวงพระบางจะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน และคาดว่าว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการหลวงพระบางด้วยเช่นกัน
สถานะการเงินที่คาดว่าจะดีขึ้น
การคงอันดับเครดิตตอกย้ำความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า สถานะทางการเงินของบริษัทจะดีขึ้นโดยมีภาระหนี้สินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง อิงตามระดับน้ำเมื่อต้นปี 2565 และสมมติฐานที่ระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า โดยคาดการณ์ว่าโครงการน้ำงึม 2 จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,600-1,650 ล้านหน่วย ในปี 2565 และฟื้นตัวขึ้นไปใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงปี 2566-2567 นอกจากนี้ ยังคาดว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ประมาณปีละ 1.1-1.2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทจะได้รับเงินปันผลจากโครงการไซยะบุรี 200 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 เป็นผลให้ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 4.0-4.7 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567 และเงินทุนจากการดำเนินงาน (FFO) คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8-3.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจนถึงระดับที่ต่ำกว่า 4 เท่าในปี 2567 โดยเชื่อว่า บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมด 1.2 พันล้านบาท ระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้จุดแข็งเพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำโดยทั่วไปจะใช้เวลาหลายปีในการพัฒนา
ทริสเรทติ้ง จึงไม่คาดว่า สินทรัพย์ของบริษัทจะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตามประมาณการกรณีพื้นฐานทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ในช่วงปี 2565-2567
โครงสร้างหนี้สิน
ณ เดือนธันวาคม 2564 งบการเงินรวมของบริษัทมีหนี้สินทั้งหมดจำนวน 3.11 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวน 1.86 หมื่นล้านบาทที่ถูกพิจารณาว่า เป็นหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบไปด้วยหนี้ของบริษัทย่อย อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดคือ 60% ทำให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทนั้นด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญในกรณีที่ต้องเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินของบริษัท หุ้นกู้ของบริษัทจึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้น
สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในงบการเงินรวมนั้น บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ซึ่งรวมถึงเงินสดที่มีภาระผูกผันสำหรับเงินกู้โครงการอยู่ที่ประมาณ 7.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (ทั้งแบบที่สามารถและไม่สามารถยกเลิกวงเงินได้) อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 2.8 พันล้านบาทในปี 2565 ดังนั้น เงินสดในมือ
รวมทั้งวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ และเงินทุนจากการดำเนินงานจึงน่าจะเพียงพอใช้ชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงปี 2565-2567 จำนวนรวมประมาณ 8.6 พันล้านบาทได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565-2567 จำนวน 4 พันล้านบาทโดยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย
จากประมาณการของทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทย่อยต่างๆ ของบริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ทั้งหุ้นกู้และเงินกู้โครงการ นอกจากนี้ บริษัทย่อยเหล่านี้ยังต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินสำรองสำหรับใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ด้วย โดยบัญชีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงให้แก่ผู้ให้กู้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ปริมาณไฟฟ้าที่โครงการน้ำงึม 2 ขายให้ กฟผ. เท่ากับ 1,600-1,650 ล้านหน่วยในปี 2565 และ 2,000 ล้านหน่วยในปี 2566-2567
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขายไฟฟ้าจำนวน 1,526-1,545 ล้านหน่วย
- เงินลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ว่า โรงไฟฟ้าของบริษัทจะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่า บริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุน และคาดว่าโครงสร้างทางการเงินจะค่อยๆ ดีขึ้นโดยกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในระดับเดียวกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้น ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้านั้นมีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิต อาจเกิดจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทที่อ่อนแอกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดจากปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นหลักซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
CKP22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
A- |
CKP23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A- |
CKP245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A- |
CKP265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A- |
CKP27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A- |
CKP285A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
A- |
CKP286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
A- |
CKP31OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 |
A- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html