- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 02 January 2022 08:07
- Hits: 15910
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.เอสโซ่ (ประเทศไทย)’ ที่ ‘A’ แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ’A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับ Exxon Mobil Corporation และบริษัทในเครือ (ExxonMobil Group) ประกอบกับการมีโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร รวมถึงการมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในตลาดน้ำมัน ความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันที่ผันผวน และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีก
อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสามระดับจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ที่ ‘bbb’ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อ Exxon Mobil Corporation (ได้รับอันดับเครดิต ‘AA-/Negative’ จาก S&P Global Ratings) การเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตนี้สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก ExxonMobil Group หากเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การฟื้นตัวของตลาดน้ำมันโลก
บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของผลประกอบการทางการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดน้ำมันโลก และด้วยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) หลายประเทศได้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดพร้อมดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น ในทางกลับกัน ตลาดต้องเผชิญกับอุปทานน้ำมันที่ขาดแคลนเนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก (Organization of the Petroleum Exporting Countries – OPEC) ยังคงจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่
ในขณะที่การลงทุนในการผลิตปิโตรเลียมยังอยู่ในระดับต่ำ จากข้อมูลของ U.S. Energy Information Administration (EIA) รายงานว่าปริมาณการใช้น้ำมันรายวันทั่วโลกเริ่มแซงหน้าการผลิตน้ำมันตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 66.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 42.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563 และยังส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
การฟื้นตัวของผลประกอบการทางการเงิน
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ค่าการกลั่นฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ค่าการกลั่นรวมของบริษัท (ค่าการกลั่นฐานรวมกับผลกำไรขาดทุนจากสินค้าคงเหลือ) ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นกำไรที่ 7.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการขาดทุนที่ 3.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563
การระบาดของไวรัสโควิด19 สายพันธุ์เดลต้าในปีที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลไทยต้องนำมาตรการปิดเมืองกลับมาใช้อีกครั้ง ส่งผลให้การบริโภคปิโตรเลียมในประเทศลดลง 8.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม จากความต้องการบริโภคน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ส่งผลให้บริษัทกลั่นน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 122 พันบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตรากำลังการผลิตที่ 70% เมื่อเทียบกับการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของบริษัทที่ 114 พันบาร์เรลต่อวันในช่วงเดียวกันของปี 2563 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.7 พันล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 7.0 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
เป็นส่วนหนึ่งของ ExxonMobil Group
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในตลาดน้ำมันไทยของ ExxonMobil Group ซึ่งเป็นผู้กลั่นและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชั้นนำระดับโลก บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจแบบบูรณาการของ ExxonMobil และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของ ExxonMobil Group ในการจัดซื้อน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่นๆ
ในขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นและปิโตรเคมีผ่านเครือข่ายการขายของกลุ่มบริษัททั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับบริการด้านเทคโนโลยี การดำเนินงาน และวิศวกรรมขั้นสูงจากกลุ่ม เพื่อให้สามารถรักษามาตรฐานในการดำเนินงานโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีผ่านทางข้อตกลงต่างๆ ที่มีร่วมกัน บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์ ‘เอสโซ่’ จำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นภายใต้แบรนด์ ‘โมบิล’ และใช้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจาก ExxonMobil
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ExxonMobil Group เป็นระยะ ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้บริษัท จากการสนับสนุนในด้านต่างๆ เหล่านี้ ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่ม ทั้งยังตอกย้ำความคาดหวังของทริสเรทติ้งถึงการสนับสนุนที่บริษัทจะได้รับจาก ExxonMobil หากบริษัทประสบปัญหา
โรงกลั่นน้ำมันมีความยืดหยุ่น
โรงกลั่นของบริษัทจัดอยู่ในกลุ่มโรงกลั่นที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพระดับแถวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีการดำเนินงานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูงและมีความยืดหยุ่นในการกลั่นน้ำมันดิบที่หลากหลายและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการผลิตอะโรเมติกส์ที่ผสานเข้ากับโรงกลั่นได้เป๋นอย่างดี เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่หดตัวเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทสามารถปรับสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสภาวะของตลาดได้ จากการบริโภคน้ำมันอากาศยานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โรงกลั่นสามารถหยุดการผลิตน้ำมันอากาศยานและเปลี่ยนมาผลิตน้ำมันดีเซลแทนได้ นอกจากนี้ บริษัทยังระงับการผลิตพาราไซลีนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาด้วย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทสามารถผลิตน้ำมันดีเซล (42%) น้ำมันเบนซิน (24%) สารตั้งต้นสำหรับปิโตรเคมี (11%) น้ำมันอากาศยานและน้ำมันก๊าด (3%) น้ำมันเชื้อเพลิง (8%) และอื่น ๆ (12%) โดยสัดส่วนของการผลิตสารตั้งต้นสำหรับปิโตรเคมีซึ่งรวมถึงรีฟอร์เมตได้ลดลงอย่างมากจาก 17% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563 ทั้งนี้ บริษัทได้จัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ผ่านการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมาตรฐานนี้ถูกกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567
การรับรู้แบรนด์ที่แข็งแกร่ง
ด้วยการกระจายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่ครอบคลุมทั่วประเทศ บริษัทจึงทำตลาดน้ำมันคุณภาพสูงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องผ่านทางสถานีบริการ ซึ่งสถานีบริการน้ำมันของบริษัทสามารถสร้างยอดขายต่อสถานีได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสถานีบริการน้ำมันของคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลกำไรโดยรวมและลดผลกระทบจากความผันผวนของธุรกิจการกลั่นน้ำมัน อีกทั้งบริษัทยังได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) (ซัสโก้) เพื่อปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันบางแห่งของซัสโก้ให้อยู่ภายใต้แบรนด์เอสโซ่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยลดต้นทุนในการลงทุนสถานีบริการน้ำมันและเร่งขยายเครือข่ายของบริษัทได้เป็นอย่างมาก ณ เดือนกันยายน 2564 สถานีบริการน้ำมันของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 721 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจาก 553 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2560
นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันและนำเสนอผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพสูงออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันในสถานีบริการ เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟมากขึ้นอีกด้วย
การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีก
ทริสเรทติ้ง มีความเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกของบริษัทยังคงมีความอ่อนไหวต่อการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ผู้ค้าปลีกน้ำมันส่วนใหญ่ในประเทศมีการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันอย่างรวดเร็วและออกกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในธุรกิจ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สถานีบริการน้ำมันของผู้ค้าปลีกรายใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 7,674 แห่ง จาก 7,459 แห่ง ในปี 2563
นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกน้ำมันรายต่างๆ ได้ทุ่มงบประมาณในการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันและขยายสินค้าและบริการที่ไม่ใช่น้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนสำหรับสถานีบริการใหม่อาจสูงขึ้น เนื่องจากผู้ค้าปลีกน้ำมันจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างและเสนอบริการที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่จะลดต้นทุนการดำเนินงานในขณะที่ยังคงต้องรักษาคุณภาพการให้บริการและความสามารถในการแข่งขันในระดับเดิมไว้
ในขณะเดียวกัน การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อทำให้ยอดขายปิโตรเลียมในประเทศผ่านสถานีบริการลดลงกว่า 6.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยผลกระทบจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันลดลงถึง 19.3% ในไตรมาสที่ 3 เพียงไตรมาสเดียว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจค้าปลีกของบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง
ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
จากการที่เศรษฐกิจโลกและการบริโภคน้ำมันฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากผลกระทบที่ได้รับจากโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งมองว่าราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงในระยะเวลาอันใกล้จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นในขณะที่อุปทานยังคงตึงตัว และจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกผลิตภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าการกลั่นจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ค่าการกลั่นจะกลับสู่ระดับเดิมในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของความต้องการการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่
ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ในกรณีฐานว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2565-2566 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าค่าการกลั่นรวมในปี 2564 จะอยู่ที่ 5.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และจะอยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2565-2566 โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นของกำไรจากสินค้าคงเหลือ
ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 8.9 พันล้านบาทในปี 2564 และอยู่ในช่วง 6.0-7.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในช่วง 55%-65% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เท่าในช่วงปี 2564-2566
การสนับสนุนทางการเงินช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท
จากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ ExxonMobil Group ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ExxonMobil Group ต่อไป ณ เดือนกันยายน 2564 เงินกู้ประมาณ 68% ของเงินกู้รวมของบริษัทเป็นเงินกู้ที่ได้รับจาก ExxonMobil Group และนอกเหนือจากเงินกู้ดังกล่าวแล้ว ExxonMobil Group ยังให้การสนับสนุนในรูปแบบของวงเงินกู้ยืมอีกจำนวน 5.4 หมื่นล้านบาทแก่บริษัทด้วยซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเบิกใช้
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะคงสัดส่วนเงินกู้ระหว่างบริษัทไว้ที่ประมาณ 60%-70% โดยวงเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทรวมกับเงินสดและวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่ได้เบิกใช้นั้นเพียงพอที่จะครอบคลุมภาระผูกพันทางการเงินของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ 2.86 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับการชำระเงินก่อน โดยเป็นเงินกู้ยืมที่บริษัทได้รับจากธนาคารพาณิชย์และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันหลายแห่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมที่ไม่มีหลักประกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565-2566
- ค่าการกลั่นของบริษัทอยู่ที่ 5.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และจะอยู่ระหว่าง 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในระหว่างปี 2565-2566
- กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 125-135 พันบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 2564-2566
- จำนวนเงินลงทุนของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 5.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’ สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงไว้ได้ ผลการดำเนินงานของบริษัทจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคน้ำมัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและ ExxonMobil Group จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มของการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีความผันผวน ซึ่งอาจเป็นผลจากค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ ExxonMobil Group ซึ่งทำให้การสนับสนุนที่จะได้รับจาก ExxonMobil Group ลดลง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อระดับการปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทในท้ายที่สุด
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|