- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 26 December 2021 21:45
- Hits: 9440
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ลานนารีซอร์สเซส’ ที่ ‘A-‘ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงปริมาณสำรองถ่านหินที่เพียงพอสำหรับการผลิตมากกว่า 10 ปี และต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำ ตลอดจนสถานะทางการเงินที่มีหนี้สินในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหิน และความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลก ที่มีแนวโน้มลดลง นระยะยาวอันเนื่องมาจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ประวัติการทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียที่ยาวนาน
บริษัทเป็นผู้ผลิตถ่านหินขนาดกลางในประเทศไทยซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเหมืองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70%-80% ของ EBITDA รวม นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจผลิตเอทานอลซึ่งสร้าง EBITDA ในสัดส่วนที่เหลือ
ทริสเรทติ้ง มองว่า ประวัติที่ยาวนานในการทำธุรกิจเหมืองถ่านหินของบริษัทซึ่งผ่านวัฏจักรของอุตสาหกรรมมาหลายครั้งนั้นถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือของบริษัท โดย บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2541
โดยผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรชาวอินโดนีเซีย บริษัทมีเหมืองถ่านหินจำนวน 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของเกาะกาลิมันตันในประเทศอินโดนีเซีย เหมืองดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทย่อย 2 แห่งของบริษัท คือ PT Lanna Harita Indonesia (LHI) และ PT Singlurus Pratama (SGP) ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินของบริษัทในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 6.6 ล้านตัน ซึ่งประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตจากเหมืองของบริษัทเองจำนวน 6 ล้านตันและส่วนที่เหลือเป็นถ่านหินที่มาจากการค้า
ทริสเรทติ้ง มองว่า ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทนั้นมาจากการทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากลักษณะการทำเหมืองแบบเปิด (Open-pit Mining) รวมถึงระยะทางระหว่างเหมืองกับท่าเรือที่ไม่ไกลกัน และการบริหารจัดการด้านขนส่งที่มีประสิทธิภาพของบริษัท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีข้อสังเกตด้วยว่าการควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องยังช่วยทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนและช่วยให้บริษัทก้าวผ่านสภาวะตกต่ำอย่างหนักของอุตสาหกรรมในอดีตที่ผ่านมาได้
ปริมาณถ่านหินสำรองที่ยังมีอายุมากกว่า 10 ปี
ปริมาณสำรองถ่านหินที่เพียงพอของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงแนวโน้มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ดีของบริษัทในอนาคต โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ปริมาณสำรองถ่านหินในเหมืองของบริษัทลูกทั้ง LHI และ SGP นั้นมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 83.6 ล้านตันซึ่งคาดว่าจะอยู่ได้นานถึง 12 ปีตามกำลังการผลิตต่อปีในปัจจุบันของบริษัท ปริมาณสำรองถ่านหินที่มีอยู่ส่วนใหญ่นั้นมีค่าความร้อนต่ำโดยอยู่ในช่วง 3,200-5,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นถ่านหินที่มีส่วนลดสำหรับราคาขายที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก
บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในเหมืองแห่งใหม่เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหิน ในการนี้ บริษัทได้ตัดสินใจซื้อหุ้น 10% ใน PT Pesona Khatulistiwa Nusantara (PKN) เมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยใช้เงินลงทุนรวม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ PKN เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียซึ่งตั้งอยู่ในเกาะกาลิมันตันตอนเหนือ โดย PKN มีสัมปทานทำเหมืองถ่านหินซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2582 และมีปริมาณถ่านหินสำรองที่สำรวจได้จำนวน 36 ล้านตัน
ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบในการทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย
การประกาศใช้ Domestic Market Obligation (DMO) ได้สร้างข้อจำกัดต่อการดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินจะต้องจัดสรรปริมาณถ่านหินไม่ต่ำกว่า 25% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมดมาจำหน่ายภายในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ราคาถ่านหินที่จำหน่ายภายใต้ DMO นั้นก็มีการตั้งราคาเพดานเอาไว้ซึ่งจะจำกัดกำไรของผู้ผลิตถ่านหินในช่วงที่ราคาอยู่ในทิศทางขาขึ้นด้วย หากผู้ผลิตถ่านหินรายใดไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวได้ก็อาจจะถูกสั่งให้ลดปริมาณการผลิตที่จะได้รับอนุมัติในปีถัดไป
นอกจากนี้ ระเบียบยังกำหนดให้บริษัทต้องจำหน่ายหุ้นที่ถือครองอยู่ใน LHI และ SGP ออกไปให้แก่หน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซียเนื่องจากบริษัทที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นสูงสุดแค่เพียง 49% เท่านั้นหลังจากเริ่มการผลิตได้ 10 ปี ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างขั้นตอนการจำหน่ายสัดส่วนการถือหุ้นเนื่องจากบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 55% ใน LHI และ 65% ใน SGP ทั้งนี้ การลดสัดส่วนการถือหุ้นในอนาคตจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจถ่านหินของบริษัทไม่มากนัก และบริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดซึ่งมีอำนาจควบคุมบริษัททั้งสองเช่นเดิม
ความเสี่ยงด้านราคาถ่านหิน
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านราคาถ่านหินเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม กำไรที่ผันผวนก็ได้รับการถ่วงดุลบางส่วน จากการที่บริษัทกระจายธุรกิจไปสู่การผลิตเอทานอลซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจถ่านหิน ทั้งนี้ ผลกำไรและกระแสเงินสดของบริษัทผ่านมาค่อนข้างมีความผันผวนไปตามแนวโน้มราคาถ่านหิน โดยบริษัทมี EBITDA อยู่ระหว่าง 1.2-2.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2563 และ EBITDA ในช่วง 5 ปีของบริษัทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 17.8% ซึ่งแกว่งตัวอยู่ในช่วง 13.9%-21.7%
ความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจเอทานอลคาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติ
บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลในประเทศไทยผ่าน บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 51% โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลในปี 2564 นั้นอ่อนแอลงอันเนื่องมาจากอุปสงค์ของน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลงอย่างมากในช่วงการปิดเมือง (Lockdown) ของประเทศไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ประกอบกับแรงกดดันด้านต้นทุนจากราคากากน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากภัยแล้งในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ายอดขายเอทานอลและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเอทานอลจะกลับสู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปโดยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยที่ดีขึ้นและราคากากน้ำตาลที่คาดว่าน่าจะลดลงตามปริมาณฝน และผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่มากขึ้นในปีนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรา EBITDA ของธุรกิจเอทานอลน่าจะค่อยๆ กลับคืนสู่ระดับปกติที่ประมาณ 15%-16% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากที่ระดับ 8.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
ผลกำไรดีขึ้นเป็นอย่างมากจากราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น
บริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหินซึ่งเกิดจากการขาดแคลนถ่านหิน โดยราคาถ่านหินซึ่งอ้างอิงกับราคา Newcastle นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เป็นประมาณ 200-250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2564 ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือ 150-160 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนพฤศจิกายน 2564
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ผลการดำเนินงานของบริษัททำสถิติในการสร้างกำไรสูงสุดใหม่ โดยบริษัทมีรายได้ถึง 1.12 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 272% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอัตรา EBITDA Margin นันอยู่ที่ระดับ 34.6% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 17%-18%
ทริสเรทติ้ง คาดว่าราคาถ่านหินจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว รวมถึงการขาดแคลนพลังงาน และปริมาณถ่านหินคงคลังในประเทศจีนที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความไม่สมดุลย์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของถ่านหินจะเริ่มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าโดยราคาถ่านหินจะค่อยๆ กลับมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2566
ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายถ่านหินทั้งหมดของบริษัทจะเติบโตถึงระดับ 7.1 ล้านตันในปี 2564 และจะค่อยๆ เติบโตจนถึงระดับ 7.6 ล้านตันในช่วงปี 2566-2567 จากการที่เหมืองถ่านหินใหม่ 2 แห่งของ SGP คือ Argosari และ Margomulyo เปิดดำเนินงาน โดยผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากธุรกิจถ่านหินน่าจะช่วยชดเชยผลการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลที่อ่อนตัวลงได้ในปี 2564
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษที่ระดับ 4.5-5 พันล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 1.9-2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
คาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการเงินที่มีหนี้สินต่ำต่อไป
ทริสเรทติ้ง เห็นว่าสถานะทางการเงินที่มีหนี้สินในระดับต่ำของบริษัทนั้นมีบทบาทสำคัญต่อความแข็งแกร่งด้านเครดิตของบริษัท โดยสัดส่วนหนี้สินทางการเงินในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากซึ่งสะท้อนถึงนโยบายด้านการเงินที่มีความระมัดระวัง และความสามารถในการสร้างเงินสดที่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินของบริษัทเอง โดยในระหว่างปี 2559-2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 25%
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการสำรองเงินสดไว้เป็นจำนวนมากและมีเงินลงทุนระยะสั้นซึ่งคิดเป็นประมาณ 60%-80% ของภาระหนี้คงค้างเพื่อลดความเสี่ยงด้านการชำระหนี้อีกด้วย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้คงค้างรวมประมาณ 1.7 พันล้านบาท โดยหนี้เกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้ระยะสั้นเพื่อใช้ในธุรกิจเอทานอล ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอโดยมีเงินสดในมือจำนวนมากถึงประมาณ 3.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่าบริษัทจะยังคงไว้ซึ่งนโยบายด้านการเงินที่มีความระมัดระวังต่อไป โดยคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านั้นน่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนที่ประมาณ 0.4-1 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2565-2567 นั้นทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะยังคงต่ำกว่า 2 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนน่าจะต่ำกว่าระดับ 30%
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินซึ่งไม่รวมหนี้จากสัญญาเช่าการเงินอยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ซึ่งหมายความว่าอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 100% เนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวนั้นเกินกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 50% ทริสเรทติ้ง จึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทนั้นมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัทในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิในการเรียกร้องนี้ก็ได้รับการบรรเทาด้วยสถานะทางการเงินที่มั่นคงของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ยอดขายถ่านหินรวมทั้งจากการผลิตและการค้าจะเติบโตถึงระดับ 7.1 ล้านตันในปี 2564 และ 7.6 ล้านตันในปี 2566-2567
- รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2564 หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566-2567
- อัตราส่วน EBITDA Margin จะยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 30% ในปี 2564 และจะลดลงเหลือ 17% ในระหว่างปี 2566-2567
- เงินลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 0.4-1 พันล้านบาทต่อปี
- อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 80%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ดี ทั้งนี้ จากการที่บริษัทมีงบดุลที่แข็งแกร่ง ตลอดจนแผนการใช้เงินลงทุนที่ระดับต่ำ และเงินสดที่เพียงพอ ทริสเรทติ้ง จึงเชื่อว่า บริษัทจะสามารถรับมือกับความผันผวนและช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมถ่านหินได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดเนื่องจากอุปสงค์ในการใช้ถ่านหินที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาวซึ่งมีปัจจัยผลักดันมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นและกระแสในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มได้หากสถานะทางธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นจนส่งผลให้กระแสเงินสดและกำไรขยายตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่บริษัทยังสามารถรักษางบการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากการที่บริษัทมีธุรกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและ/หรือปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากหรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเกิดจากอุปสงค์ถ่านหินทั่วโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในประเทศอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจถ่านหินของบริษัท
ในขณะที่การซื้อกิจการโดยการก่อหนี้จนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 เท่าเป็นระยะเวลานานนั้นก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (LANNA)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|