- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Thursday, 09 December 2021 12:42
- Hits: 10392
SUPER คว้างานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ม.มหิดล กำลังผลิตรวม 14 MW
โชว์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า
บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ส่งบริษัทย่อย ‘เอสพีพี ซิค’ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ ‘มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา’ ในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) มีขนาดกำลังผลิต 14 เมกะวัตต์ คาดติดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 2565 ฟาก CEO ‘จอมทรัพย์ โลจายะ’ ระบุโครงการดังกล่าวจะใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนค่าไฟได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมเดินหน้าขายไฟฟ้าแบบ Private PPA เต็มกำลัง สนับสนุนรายได้เติบโตต่อเนื่อง
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด และเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Private PPA เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยการใช้ประโยชน์พื้นที่หลังคาอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัย มูลค่าโครงการรวม 350 ล้านบาท และมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 14 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 12 เมกะวัตต์ คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 2565 ระยะเวลาขายไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมด 13 ปี 6 เดือน
สำหรับการออกแบบติดตั้งในครั้งนี้ถือเป็นการนำนวัตกรรมการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่ทันสมัย ที่มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุด (Power Optimizer) อีกทั้งการนำระบบบริหารจัดการ โดยเครือข่ายอัจฉริยะที่สามารถควบคุม สั่งการ และเฝ้าติดตามระบบแบบออนไลน์จากศูนย์ควบคุม ซึ่งใช้ระบบเครือข่ายสื่อสารแบบไร้สายที่สามารถส่งข้อมูลทางไกลได้ (LoRa-Wan) โดยการใช้สัญญาณวิทยุ ซึ่งเหมาะกับการใช้การงานในมหาวิทยาลัยที่มีพื้นครอบคลุมเป็นวงกว้าง รวมถึงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อกักเก็บไฟฟ้าส่วนเกิน หรือ สามารถบริหารการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่มีการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์โดยจะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลฯ จะสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มุ่งมั่นในการดำเนินการโครงการนี้ถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัยใน “การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2573” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” เพราะการผลิตไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงนับเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“การลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมย์ที่เป็นรูปธรรม ที่จะมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน โดยการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงนับเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันช่วยสร้างรายได้ และ PPA นอกเหนือรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ และพลังงานลมที่มีอยู่ในพอร์ตลงทุนของบริษัทฯ ขณะเดียวกัน บริษัทฯยังมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวไปยังที่อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง” นายจอมทรัพย์ กล่าวในที่สุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกล้วนประสบกับผลกระทบอันรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นานาประเทศให้ความสนใจในการร่วมแก้ปัญหา โดยได้มีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ เพื่อบรรลุข้อตกลงและป้องกันภัยพิบัติร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ณ ปัจจุบันได้มีการจัดงานประชุมนี้ขึ้นมาแล้ว 26 ครั้ง (COP1-COP26) ซึ่งยังคงยึดตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือ ที่มุ่งเป้าสู่การบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในปี 2050 เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ.2573 โดยใช้แผน “9 to Zero” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” จึงเป็นแผนของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 3 ระยะ คือ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 65% ในปี 2567, ระยะที่ 2 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 85% ในปี 2570 และ ระยะที่ 3 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 100% ภายในปี 2573
อย่างไรก็ตามที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะที่ 1 ด้วยหลักการก้าวที่ 1 คือ การใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยการจัดทำสัญญาความร่วมมือของโครงการการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับบริษัท เอส พีพี ซิค จำกัด ที่จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ขนาด 14 เมกกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 10,487 ตันต่อปี คิดเป็น 21% และในอนาคตมหาวิทยาลัยได้เตรียมแผนขยายพื้นที่การติดตั้ง Solar Rooftop ไปยังวิทยาเขตอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Climate Action)
A12303