WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS7 13ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.เงินติดล้อ’ ที่ ‘A’ แนวโน้ม ‘Stable’

    ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile – SACP) ของบริษัทที่ระดับ ‘a-‘ ขึ้นมา 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ’AAA’ ด้วยแนวโน้ม ‘Stable’ หรือ’คงที่’ จากทริสเรทติ้ง) ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

      อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงการที่บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากการมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดในระดับหนึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

       ทริสเรทติ้ง มองว่าบริษัทเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ ‘a-‘ ขึ้นมา 1 ขั้น โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยายังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% หลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) ของบริษัท คณะกรรมการของบริษัททั้งหมดมีจำนวนทั้งสิ้น 12 คน ซึ่ง 4 คนเป็นตัวแทนที่มาจากทางธนาคาร

GC 580x400

      ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานต่างๆ นั้นก็อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ บริษัทยังคงเป็นสมาชิกอยู่ใน Full Consolidated Group ของทางธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำให้ธนาคารมีหน้าที่กำกับดูแลและให้คำแนะนำในด้านแนวทางการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงแก่บริษัทในทางอ้อม ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในยามที่บริษัทต้องการ

       บริษัทเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่กลุ่มลูกค้าภายในประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้ บริษัทได้รับการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในรูปของความรู้และเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารความเสี่ยง โดยการควบคุมความเสี่ยงของบริษัทส่วนใหญ่สอดคล้องกับกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงของทางธนาคาร

      ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีเงินกู้คงค้างที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 1.01 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 27% ของเงินกู้คงค้างทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในจำนวนอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

TU580x400

มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง

       ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเอาไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่จำนวน 5.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2563 การเติบโตที่ดีขึ้นในปี 2564 เมื่อเทียบกับการเติบโตทั้งปีที่ระดับ 7% ในปี 2563 นั้นเป็นผลมาจากสภาวะตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นจากการคลายมาตรการปิดเมือง (City Lockdown) ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรม

     ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งทำให้บริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นๆ กล่าวคือ ในขณะที่คู่แข่งต่างก็เน้นไปที่การขยายสาขาเพื่อสร้างการเติบโตของสินเชื่อ แต่บริษัทเน้นการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาโครงสร้างการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Innovation and Platform) เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกเฟ้นการขยายเครือข่ายสาขาเพื่อขยายสินเชื่อ

       บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันรายแรกที่ให้บริการบัตรกดเงินสดที่ทำให้ลูกค้าสามารถเบิกเงินสดได้จากตู้เอทีเอ็ม (Automatic Telling Machine -- ATM) บัตรกดเงินสดดังกล่าวช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้าของบริษัทในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียนบนวงเงินของลูกค้า โดยการใช้ระบบบัตรกดเงินสดและการปล่อยสินเชื่อภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้บริษัทมีการพึ่งพาสาขาที่น้อยลงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น

       ส่วนในด้านของเครือข่ายสาขานั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่ไปแล้วจำนวน 184 แห่งซึ่งคิดเป็นสาขาทั้งสิ้นในปัจจุบันที่จำนวน 1,260 แห่งและถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายสำคัญ ๆ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรวมคงค้างต่อจำนวนสาขาของบริษัทมีจำนวนที่สูงกว่าคู่แข่งโดยอยู่ที่ระดับ 44.9 ล้านบาทต่อสาขา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งที่ระดับ 11.9 ล้านบาทต่อสาขา

QIC 580x400

มีสถานะฐานทุนที่ดีขึ้นและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง

       ฐานทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับที่แข็งแกร่งมากหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งทำให้บริษัทมีเงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวน 7.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 37.6% จาก 22.6% เมื่อสิ้นปี 2563 ก่อนการขายหุ้นเพิ่มทุน บริษัทนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนไปใช้ในการขยายสินเชื่อในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

        ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทน่าจะสามารถคงระดับอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 30% ในระยะปานกลางได้ภายใต้สมมติฐานที่บริษัทไม่มีการขยายสินเชื่อแบบเชิงรุกซึ่งจะช่วยสนับสนุนสถานะเครดิตของบริษัทเอาไว้ได้

       ทริสเรทติ้ง คาดว่าความสามารถในการกำไรที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงช่วยส่งเสริมสถานะฐานทุนของบริษัทให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการสะสมกำไรในปัจจุบันนั้นน่าจะสามารถทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับเกินกว่า 30% ได้เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ระดับประมาณ 15% ต่อปี

       ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6.0%-6.5% ในระหว่างปี 2564-2566 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 และในปี 2563 อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 7.2% และ 6.1% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีต้นทุนด้านเครดิตที่ปรับตัวลดลงซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้ประโยชน์ของสำรองส่วนเพิ่มจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) ที่มีอยู่ และประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเห็นได้จากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมที่ลดลง

      การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.8% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้นก็มีส่วนช่วยสนับสนุนรายได้รวมของบริษัทในปีนี้แม้จะมีแรงกดดันในส่วนของผลตอบแทนจากสินเชื่อก็ตามโดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตที่เข้มแข็งของธุรกิจนายหน้าประกันภัย

      ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เบี้ยและรายได้ของธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น 25% และ 28% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่ากรณีดังกล่าวเป็นพัฒนาการในด้านบวกเนื่องจากสัดส่วนที่มากขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพของรายได้ของบริษัทได้ในระยะยาว

sme 580x400

คุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งเกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง

         ทริสเรทติ้ง คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในระยะปานกลางจากการมีแนวปฏิบัติด้านความเสี่ยงที่ระมัดระวังและระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การเป็นส่วนหนึ่งของ Full Consolidated Group ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและได้นำระบบและโครงสร้างการดูแลความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับของธนาคารมาปรับใช้

        โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (สินเชื่อชั้นที่ 3) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.41% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอาจเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันได้จากการที่มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวในการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2564 นี้

       ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่ในโครงการผ่อนปรนหนี้คิดเป็น 14% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดเมื่อเทียบกับ 2% ณ สิ้นปี 2563 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภายใต้โครงการดังกล่าวเกิดจากการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ในช่วงการดำเนินมาตรการปิดเมืองในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

        ในปี 2564 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่อยู่ในระดับสูงได้ช่วยลดต้นทุนด้านเครดิตของบริษัทไว้ได้บางส่วน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะทยอยใช้ประโยชน์ตามสมควรจากสำรองที่มีอยู่ในระดับสูงของบริษัทในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะค่อยๆ ลดอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าต้นทุนด้านเครดิตของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1%-2% ในระยะปานกลาง

ais 580x400

แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องมีเพียงพอ

       ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทเกิดจากการที่บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทมีการกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ รวมจำนวนประมาณ 1.47 หมื่นล้านบาทและ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกเหนือจากวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท

       ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทซึ่งรวมถึงส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระใน 1 ปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 47% ของเงินกู้ยืมรวม ณ เดือนกันยายน 2564 ในขณะที่กระแสเงินสดจากการชำระค่างวดรายเดือนของลูกหนี้รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาและสถาบันการเงินอื่นๆ น่าจะมีมากเกินพอที่จะรองรับสภาพคล่องได้ตามกำหนด

ผลิตภัณฑ์ใหม่จะช่วยลดผลกระทบจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงและแรงกดดันด้านผลตอบแทนของผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน

        ผู้ประกอบการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันมีการเติบโตที่ดีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการใหญ่ 3 รายแรกในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อยู่ที่ระดับประมาณ 30%-40% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนฐานสินเชื่อรวมที่ใหญ่ขึ้น และผลกระทบจากโรคโควิด 19 ได้ทำให้การเติบโตของธุรกิจลดลงอย่างมากในปี 2563 และปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2564

        โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการใหญ่ทั้ง 3 รายขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ระดับ 11% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้วซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 13% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการเติบโตของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะอยู่ในอัตราเลข 2 หลักในระยะปานกลางโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์สินเชื่อที่มาจากกลุ่มเปราะบาง

        ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันได้รับแรงกดดันจากการที่ ธปท. ได้ปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงเหลือ 24% ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงแล้วยังคงให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าจูงใจเมื่อเทียบกับธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นก็ทำให้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของผู้ประกอบการอยู่ในระดับต่ำกว่า 20%

      ในปี 2563 ผู้ประกอบการเหล่านี้ จึงได้ปรับตัวให้ทันกับสภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ สินเชื่อเพื่อการซื้อสินค้าแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง และธุรกิจที่มีรายได้เป็นค่าธรรมเนียม เช่น ผลิตภัณฑ์ประกัน เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านผลตอบแทน เป็นต้น โดยในระยะยาวทริสเรทติ้งคาดว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เหล่านี้จะช่วยรักษาผลประกอบการทางการเงินของผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ยังคงแข็งแกร่งต่อไปได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้

  • สินเชื่อใหม่จะขยายตัวที่ระดับประมาณ 25% ในปี 2564 และจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15%-20% ต่อปีหลังจากนั้น
  • อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงคาดว่าจะรักษาระดับอยู่ที่เกินกว่า 30%
  • อัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมจะยังคงอยู่ในระดับ 17%-18%
  • ต้นทุนทางด้านเครดิต[1] จะรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 1%-2%
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม [2] จะรักษาระดับอยู่ที่ระหว่าง 54%-55% 

EXIM One 720x90 C J

แนวโน้มอันดับเครดิต

        แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งและสถานะผู้นำในตลาดสินเชื่อทะเบียนรถในขณะที่ยังคงมีผลการประกอบการทางการเงินที่น่าพึงพอใจต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

       อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีเสถียรภาพทางธุรกิจที่เข้มแข็งขึ้นโดยการปรับเพิ่มสถานะทางการตลาดให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้และมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจ

      ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการแข่งขันหรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25%

       นอกจากนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับความสำคัญของบริษัทที่มีต่อกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็อาจเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงมุมมองดังกล่าวด้วย

GC 720x100TU720x100

 

 

 

 

 

 

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR)

อันดับเครดิตองค์กร:

A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TIDLOR21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564

A

TIDLOR221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565

A

TIDLOR224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565

A

TIDLOR22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565

A

TIDLOR228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565

A

TIDLOR234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566

A

TIDLOR238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566

A

TIDLOR244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567

A

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable

sme 720x100QIC 720x100

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com  

ติดต่อ [email protected]  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

        © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง

      ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

[1] ต้นทุนทางด้านเครดิต = ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น / เงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย

[2] รายได้รวม = รายได้ดอกเบี้ย + รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!