- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 05 December 2021 10:28
- Hits: 5682
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร ‘บสส.’ ที่ ‘AA+’ แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ที่ระดับ ‘AA+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของ ทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของ บสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ (Importance) กับภาครัฐในระดับ’สำคัญมาก’ (Very Important) และมีความสัมพันธ์ (Linkage) กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ในระดับ ‘สูงสุด’ (Integral)
โดยกองทุนฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ จัดตั้งภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความสัมพันธ์และบทบาทที่แข็งแกร่งมีนัยที่บ่งบอกถึงแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้สูงที่ บสส. น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ในยามจำเป็น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดและมีบทบาทในการควบคุมดูแล
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า ความสัมพันธ์ของ บสส. กับกองทุนฯ อยู่ในระดับ ‘สูงสุด’ (Integral) จาก ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ’ ของทริสเรทติ้ง เนื่องจากกองทุนฯ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของ บสส. การที่กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดใน บสส. ทำให้นโยบายในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทซึ่งรวมไปถึงนโยบายและทิศทางในการดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินถูกกำหนดและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดผ่านทางคณะกรรมการบริษัท
ทั้งนี้ นอกจากบริษัทจะมีกรรมการบริษัทที่มาจากกองทุนฯ แล้วนั้น คณะกรรมการของบริษัทยังประกอบด้วยตัวแทนจาก ธปท. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ ซึ่งเน้นย้ำถึงความใกล้ชิดระหว่างบริษัทและภาครัฐ อีกทั้ง นโยบายการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินของบริษัทยังมุ่งเน้นที่เสถียรภาพทางธุรกิจมากกว่าผลกำไรอีกด้วย
บทบาทเชิงนโยบายที่สำคัญในการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ
ความสัมพันธ์และความสำคัญของบริษัทต่อกองทุนฯ และ ธปท. ได้รับการสนับสนุนจากบทบาทของบริษัทในการเป็นตัวแทนของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายที่สำคัญของธนาคารกลาง โดย บสส. ทำหน้าที่สำคัญในฐานะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานของรัฐในการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยการเข้าซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยบทบาทหน้าที่ของ บสส. เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่สำคัญในการรับมือกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นมากในระบบธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าหากการดำเนินงานของ บสส. มีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมได้
นอกจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้ว บสส. ยังมีบทบาทที่เด่นชัดอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นตัวกลางในการดำเนิน ‘โครงการคลินิกแก้หนี้’ ซึ่งริเริ่มโดย ธปท. เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้โดยสมัครใจสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้และเพื่อให้สถาบันการเงินได้รับชำระหนี้คืนมากขึ้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้มีจำนวนลูกหนี้ภายใต้โครงการเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยอยู่ที่ประมาณ 11,000 รายจากประมาณ 3,000 รายในปี 2562 เนื่องจาก บสส. ได้ขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้มากขึ้น
โดยสัดส่วนของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพภายใต้โครงการต่อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเฉพาะส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในระบบนั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.9% ในปี 2563 จาก 2.1% ในปี 2562 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของ บสส. ในการช่วยให้ ธปท. บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างรวมของลูกหนี้ภายใต้โครงการอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 660 ล้านบาทในปี 2562
ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า บสส. มีแนวโน้มที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากกองทุนฯ ในยามวิกฤติ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนจากจากกองทุนฯ นอกเหนือไปจากเงินกู้ยืมผ่านตราสารที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยจากกองทุนฯ ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท แต่ทริสเรทติ้งมองว่ากองทุนฯ ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยอ้อมแก่บริษัทผ่านทางการกำหนดตารางการชำระคืนหนี้ที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้
โดยกองทุนฯ ได้กำหนดที่การชำระคืนหนี้ของบริษัทที่ 1.5 พันล้านต่อปี โดยเมื่อเทียบเงินจำนวนดังกล่าวกับกระแสเงินรับของบริษัทในแต่ละปีที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแล้วนั้น จะเห็นว่าบริษัทสามารถเก็บเงินสดรับจากการดำเนินงานมาใช้สำหรับการขยายธุรกิจได้ ทั้งนี้ การชำระคืนหนี้ในปี 2562-2563 ปีละ 1.5 พันล้านบาทนั้นเป็นจำนวนที่ลดลงจากการชำระคืนที่ประมาณ 5 พันล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากกองทุนฯ มีนโยบายที่ต้องการให้ บสส. เสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในยามจำเป็น โดยจำนวนการชำระคืนหนี้ดังกล่าวจะได้รับการทบทวนทุกๆ 3 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อจำกัดในเชิงกฎระเบียบหรือนโยบายใด ๆ ที่จะห้ามมิให้กองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บสส. ในกรณีจำเป็น และทริสเรทติ้งยังมีมุมมองว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ บสส. อาจสร้างส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของกองทุนฯ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบสส.
เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง
บสส. ถือว่า เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในแง่ของขนาดของสินทรัพย์รวมเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งสิ้น 59 แห่งในอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของไทย โดยบริษัทมีหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิรวมอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาทที่อยู่ภายใต้การบริหารและมีภาระหนี้ตามบัญชีรวมอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยเมื่อพิจารณาจากขนาดของธุรกิจและความชำนาญของ บสส.
รวมถึงการสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุนจากกองทุนฯ แล้วนั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบทบาทของ บสส. นั้นไม่อาจแทนที่ได้ด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์รายอื่นๆ ในระยะสั้นถึงปานกลาง ทั้งนี้ บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก. ได้รับอันดับเครดิต ‘A-/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) ที่มีขนาดสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมของทั้ง บสก. และ บสส. คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของสินทรัพย์รวมของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
กองทุนฯ กำกับดูแลระดับภาระหนี้ของบริษัทจากสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมเงินกู้ยืมที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนฯ) เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.4 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นจากจากการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ซึ่งทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนการบันทึกตั๋วสัญญาใช้เงินกองทุนตามมูลค่าปัจจุบันและรับรู้ส่วนปรับมูลค่าตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว
โดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของส่วนของผู้ถือหุ้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบ 1.9 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.1 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
แหล่งเงินทุนจากเงินสดรับชำระหนี้และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
บสส. มีเงินสดรับชำระหนี้จากลูกหนี้สินเชื่อและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับการขยายธุรกิจ โดยช่วงก่อนปี 2563 บริษัทมีกระแสเงินสดรับจากทั้งพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพและพอร์ตทรัพย์สินรอการขายอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่กระแสเงินสดรับของบริษัทลดลง 29% จากปี 2562 มาอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาทในปี 2563 จากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างไรก็ตาม บสส. ยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 9.5 พันล้านบาท โดย 21% ของวงเงินดังกล่าวยังไม่ถูกเบิกใช้
บริษัทบริหารสินทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง
จำนวนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 39 แห่ง ณ สิ้นปี 2558 มาอยู่ที่ 59 แห่ง ณ สิ้นปี 2563 โดยสินทรัพย์รวมสะสมของบริษัทบริหารสินทรัพย์เติบโตด้วยอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นที่ 9.69% ระหว่างปี 2558-2563 ทั้งนี้ ผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้นส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินต่าง ๆ (รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติและบริษัทการเงิน) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 4.6 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสองของปี 2564
อีกทั้ง อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพยังเพิ่มขึ้นจาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 3.09% ณ สิ้นไตรมาสสองของปี 2564 อีกด้วย โดยปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดหลังจากมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้จบลงจะทำให้บริษัทบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในการเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผลได้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า บสส. จะยังคงสถานะในการเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและจะรักษาความสัมพันธ์ระดับ ‘สูงสุด’ และบทบาทในระดับ ‘สำคัญมาก’ ต่อทั้งกองทุนฯ และ ธปท. เอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บสส. อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมุมมองของทริสเรทติ้งทั้งในด้านของระดับความสัมพันธ์ และความสำคัญของ บสส. ที่มีต่อกองทุนฯ และ ธปท. นั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM)
อันดับเครดิตองค์กร: |
AA+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|