- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 21 November 2021 21:15
- Hits: 10196
ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ช ทวี’ เป็น ‘B’ จาก ‘B+’ แนวโน้ม ‘Negative’
ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ ‘B’ จากระดับ ‘B+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก รวมทั้งความสามารถในการสร้างรายได้ที่ลดลงของบริษัทตลอดจนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งด้านสภาพคล่องของบริษัท จากการที่หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการกู้ยืมใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือรีไฟแนนซ์ของบริษัทมีข้อจำกัดจากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอในปัจจุบัน ในขณะที่แผนการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ชำระหนี้ของบริษัทก็ยังไม่ชัดเจน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานอ่อนแอ
ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) การแพร่ระบาดของโรค ทำให้เกิดความล่าช้า หรือมีการยกเลิกในหลายโครงการที่บริษัทมีแผนเข้าร่วม นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบจากความถดถอยของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังผลิตภัณฑ์รถสนับสนุนภาคพื้นดินภายในสนามบินซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่เป็นจุดแข็งและแหล่งรายได้สำคัญอีกส่วนหนึ่งของบริษัท ในปี 2563 บริษัทมีรายได้ลดลง 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 648 ล้านบาท จาก 1,569 ล้านบาทในปี 2562 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ลดลง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 350 ล้านบาท
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อไปอีกในอีกหลายไตรมาสข้างหน้าจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่มีความไม่แน่นอนและภาวะทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง ในขณะที่รายได้ประจำจากงานให้บริการยังคงอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ประจำจากงานให้บริการของบริษัทจะอยู่ที่ 200-300 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
ทริสเรทติ้ง มีสมมติฐานที่คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 530 ล้านบาทในปี 2564 และ 600-700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมการพิจารณามูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบของบริษัท (Backlog) ซึ่งคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้จำนวนประมาณ 75 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 กับอีกประมาณ 220 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 250 ล้านบาทในปี 2566
บริษัทมีความพยายามที่จะปรับรูปแบบไปเป็นบริษัทที่มีเน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อโอกาสในการเติบโตทั้งด้านธุรกิจและรายได้ อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีความไม่แน่นอนหลายประการตลอดจนมีความเสี่ยงในการดำเนินการอีกด้วย
มีผลขาดทุนต่อเนื่อง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงอันเนื่องมาจากการใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมบุคลากรและกำลังการผลิตเพื่อรองรับการดำเนินงานในหลาย ๆ โครงการ อย่างไรก็ดี โครงการหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐนั้นเกิดความล่าช้าหรือถูกยกเลิกด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงานของภาครัฐ การลดลงอย่างมากของรายได้ยิ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำไรของบริษัทยิ่งอ่อนแอและประสบผลขาดทุน
แม้ว่า บริษัทจะมีความพยายามในการควบคุมต้นทุน บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ -24 ล้านบาทในปี 2563 และ -72 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทติดลบจากการที่บริษัทมีต้นทุนทางการเงินในระดับสูง โดยบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานติดลบที่ -169 ล้านบาทในปี 2563 และ -206 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ -100 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ -235 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ -110 ถึง -120 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยโอกาสด้านรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นของบริษัทจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการได้รับงานโครงการใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเภทบริหารโครงการและงานให้บริการซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่างานในกลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐานของบริษัท
ความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอตอกย้ำด้วย EBITDA ที่ติดลบ
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุน ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับ 55-60 เท่าในช่วงปี 2565-2566 ในขณะที่กระแสเงินสดของบริษัทยังคงอ่อนแอ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะติดลบในปี 2564 และอยู่ที่ประมาณ 0.3 เท่าในระหว่างปี 2565-2566
ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อน (หนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้สินที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทลูก) เทียบกับหนี้สินรวมประมาณ 35% ซึ่งต่ำกว่ำระดับเพดานที่ 50% ทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้ของบริษัทที่ไม่มีหลักประกันไม่ได้มีความเสียเปรียบในการเรียกร้องสิทธิ์เหนือทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ตามข้อกำหนดทางการเงินที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity -- D/E) ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า และดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio -- DSCR) ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่านั้น ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมี D/E อยู่ที่ 2.53 เท่า และ DSCR ที่ -0.07 เท่า ซึ่งบริษัทได้รับการผ่อนผันจากเจ้าหนี้ ขณะที่ในส่วนของหุ้นกู้นั้น บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Interest-bearing Debt to Equity -- IBD/E) ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมี IBD/E อยู่ที่ 2.14 เท่า
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง โอกาสที่บริษัทจะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินเรื่อง D/E และ IBD/E นั้นถูกบรรเทาลงจากการที่บริษัทมีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวนไม่เกิน 400 ล้านบาทให้แก่ Advance Opportunities Fund (AO Fund) and Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 บริษัทได้มีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพแล้วจำนวน 340 ล้านบาท และมีการใช้สิทธิ์แปลงสภาพแล้วจำนวน 330 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่อง DSCR ได้ในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าและอาจต้องขอรับการผ่อนผันจากเจ้าหนี้เพิ่มเติม
มีความกังวลมากเรื่องสภาพคล่อง
ทริสเรทติ้ง มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทเป็นอย่างมากเนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระภายในระยะ 18 เดือนข้างหน้า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 1 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 433 ล้านบาทและวงเงินกู้ยืมระยะสั้นอีกจำนวน 582 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ -150 ล้านบาทจากการมีภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินในระดับสูง แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวน 71 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 และเงินจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวนไม่เกิน 160 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อออกหุ้นกู้แปลงสภาพเพิ่มเติมอีกในวงเงินไม่เกิน 350 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างมากในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอต่อภาระหนี้ ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการกู้ยืมใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือรีไฟแนนซ์ของบริษัทมีข้อจำกัดจากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอในปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม 2564 บริษัทได้ขอขยายอายุของหุ้นกู้ CHO21OA จำนวน 300 ล้านบาทที่ครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2564 ออกไป
โดยบริษัทได้ชำระหนี้ส่วนหนึ่งจำนวน 90 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2564 และขยายวันชำระหนี้ส่วนที่เหลือจำนวน 210 ล้านบาทออกไปอีก 18 เดือนโดยจะครบกำหนดชำระในเดือนเมษายน 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้หุ้นกู้ก้อนใหญ่ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวน 436 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับชำระหนี้ดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อระดมทุนในรูปแบบ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ผ่านบริษัท AROGO Capital Acquisition Corporation (AROGO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซึ่งถ้า AROGO ได้รับการอนุมัติจาก The U.S. Securities and Exchange Commission ให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สหรัฐอเมริกา บริษัทจะต้องใช้เงินทุนจำนวน 130-140 ล้านบาท ในฐานะบริษัทสปอนเซอร์ โดยที่เงินที่ได้จากการระดมทุนผ่าน SPAC จะถูกใช้ในการซื้อกิจการอื่น ซึ่งแม้ว่าการจัดตั้ง SPAC ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของบริษัท แต่ในระยะสั้นนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสถานะสภาพคล่องที่อ่อนแออยู่แล้วของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- • บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 530 ล้านบาทในปี 2564 และ 600-700 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
- • บริษัทจะมี EBITDA ประมาณ -100 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
- • บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ -235 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ -110 ถึง -120 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
- • เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 30-40 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
- • ใช้เงินลงทุนใน SPAC จำนวน 130-140 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอับดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งด้านสภาพคล่องของบริษัท จากการที่หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยที่แผนในการจัดหาเงินทุนยังไม่ชัดเจน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากมีสัญญาณความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นหรือผลการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยมีรายได้จากการดำเนินงานที่แน่นอนยิ่งขึ้นและมีภาระหนี้ที่ลดลง และความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินก็ได้รับการแก้ไขอย่างแน่ชัดแล้ว
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO)
อันดับเครดิตองค์กร: |
B |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ