- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 17 October 2021 14:38
- Hits: 18131
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.คาราบาวกรุ๊ป’ที่ ‘A’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศ โอกาสในการเติบโตในต่างประเทศ ระดับหนี้สินที่ต่ำ และผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทต้องพึ่งพาสินค้าน้อยรายการ รวมถึงโอกาสการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทย
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเป็นผลมาจากแบรนด์ของบริษัท ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมร้านค้าปลีกมากกว่า 180,000 แห่ง โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังของบริษัทยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 21% ในปี 2563
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองและการจำกัดการเดินทางเนื่องจากการแพร่ระบาดหลายระลอกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยปริมาณขายของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังลดลง 7% ในปี 2563 และลดลง 1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศของบริษัทปรับตัวลง 1% ในปี 2563
และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศจะลดลง 2% ในปี 2564 จากนั้นจะฟื้นตัวประมาณ 1%-2% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
คาดว่ารายได้จากการส่งออกจะฟื้นตัว
รายได้จากการส่งออกของบริษัทปรับตัวลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 จากที่เคยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาลดลงมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกไปยังประเทศเทศจีนซึ่งเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวและการส่งออกไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่เติบโตขึ้นช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของยอดขายในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความยั่งยืนของรายได้จากการส่งออกไปยังทั้งสองประเทศดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้จากการส่งออกคิดเป็น 48% ของรายได้รวมของบริษัทโดยตลาดกัมพูชายังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทตามด้วยเมียนมา
ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้จากการส่งออกของบริษัทจะปรับตัวลงประมาณ 7% ในปี 2564 จากอุปสงค์ในประเทศกัมพูชาที่คาดว่าจะถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้จากการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้น 7% ในปี 2565 และเพิ่มขึ้น 4% ในปี 2566 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2565
บริษัทมีการพึ่งพาสินค้าที่จำกัด
บริษัทพึ่งพาสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังเป็นหลักซึ่งเป็นสินค้าหมวดเล็กหมวดหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มโดยรวม ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในความนิยมบริโภครวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้ของบริษัทในสัดส่วน 77% และกำไรขึ้นต้นในสัดส่วน 92% มาจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มชูกำลังแบบดั้งเดิมซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักคือคนทำงานที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศเป็นตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัวและมีโอกาสในการเติบโตที่จำกัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มยอดขายภายในประเทศบริษัทได้ออกสินค้าใหม่ประเภทอื่นๆ เช่น กาแฟพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำดื่ม และ เครื่องดื่มเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการจัดจําหน่ายสินค้าแก่บุคคลภายนอก (Third Party) เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการกระจายสินค้าของบริษัท รายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกเติบโตขึ้น 71% ในปี 2563 และ 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่มาจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกจะช่วยเพิ่มรายได้ในประเทศแต่จะสร้างอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าใหม่และการจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกจะช่วยลดการพึ่งพิงจากการขายสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องดื่มชูกำลังของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
อัตรากำไรอ่อนตัวลงจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
อัตรากำไรของบริษัทอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เนื่องจากราคาวัตถุดิบเช่นน้ำตาลและอลูมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจาก 28.9% ในปี 2563 เป็น 26.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ที่ประมาณ 24%-25% ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตรากำไรจะยังคงได้รับประโยชน์จากการขยายตัวในแนวดิ่งของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา การประหยัดจากขนาดจากการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น และการใช้สื่อโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่รอบคอบ นอกจากนี้ บริษัทยังปรับสูตรเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทสามารถลดผลกระทบจากภาษีสรรพสามิตรและภาษีน้ำตาลได้ แต่ยังทำให้สามารถประหยัดต้นทุนภาษีและต้นทุนน้ำตาลได้เพิ่มเติมอีกด้วย
ระดับหนี้สินปรับตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยระดับหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากบริษัทซื้อหุ้นใน บริษัท เอเชีย แคน แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จากผู้ถือหุ้นส่วนน้อย และบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 0.8 เท่าในปี 2563 เป็น 1.1 เท่าในครึ่งแรกของปี 2564 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงจาก 105% ในปี 2563 เป็น 75% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 4.4-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 และคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 4.7 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน จึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 0.7-1.0 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะสูงกว่า 80% ในช่วงปี 2564-2566
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งที่มาของสภาพคล่องประกอบไปด้วยเงินสดจำนวน 742 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.6 พันล้านบาทในปี 2564 และวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 4.7 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 169 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
หุ้นกู้ของบริษัทมีเงื่อนไขทางการเงินสำคัญที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ระดับไม่เกิน 2.5 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.62 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขทางการเงิน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินได้ต่อไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนเป็นจำนวน 1.1 พันล้านบาทจากหนี้สินรวมซึ่งอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมที่ระดับ 20% ซึ่งต่ำกว่าระดับเพดานที่ 50% ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่ได้มีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังต่อไปนี้
- รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.74-1.98 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ระหว่าง 24%-25% ในช่วงปี 2564-2566
- งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 4.7 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศและรักษาระดับการเติบโตที่สมเหตุสมผลในตลาดส่งออกได้ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าบริษัทจะยังคงมีอัตรากำไรและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในขณะที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในที่ระดับที่ดีเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากและเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทดำเนินนโยบายทางการเงินที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในระยะอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างฐานกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญและมีแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอย่างมีสาระสำคัญในขณะที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
CBG237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ