- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 02 October 2021 20:01
- Hits: 7557
ฟิทช์ จัดอันดับเครดิต เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นครั้งแรกที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ – กรุงเทพฯ – 30 กันยายน 2564: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด หรือ SCGC ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวให้แก่โครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Notes Program หรือ MTN) มูลค่ารวมภายใต้โครงการไม่เกินหนึ่งแสนล้านบาทที่จะมีการออกจำหน่าย ที่ระดับ ‘A+(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGC ที่ ‘A+(tha)’ อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ('A+(tha)’,แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile: SCP) ของ SCGC เนื่องจาก SCGC กับบริษัทแม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงกฎหมายและเชิงกลยุทธ์อยู่ในระดับสูง ฟิทช์พิจารณาให้สถานะเครดิตโดยลำพัง ของ SCGC อยู่ที่ ‘a-(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีลูกค้าอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ถูกจำกัดจากการที่บริษัทฯ มีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายธุรกิจ โดยใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) น่าจะคงอยู่ในระดับประมาณ 4.5 เท่าในช่วงสองปีข้างหน้า
หุ้นกู้ที่จะออกจำหน่ายภายใต้โครงการ MTN ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ และ บริษัทฯ มีจำนวนหนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าอยู่ในระดับที่จำกัด เงินที่จะได้รับจากการออกจำหน่ายหุ้นกู้จะนำไปใชำระคืนหนี้ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หรือใช้สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่อยู่ในระดับสูง – ฟิทช์พิจารณาเห็นว่า SCGC มีความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายกับบริษัทแม่อยู่ในระดับสูง โดยบริษัทแม่ หรือ SCC ได้ค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้แก่วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวน 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ซึ่ง SCGC สามารถเบิกใช้วงเงินได้ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงงานในปี 2563-2566
ฟิทช์ คาดว่า จำนวนหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามวงเงินที่ได้รับการเบิกถอน โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของหนี้ทั้งหมดของ SCGC ในปี 2566 เมื่อโครงการ LSP ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิต
ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ SCGC ที่มีต่อบริษัทแม่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGC มีสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของ EBITDA รวมของกลุ่ม SCC กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้าง EBITDA มากที่สุดในสามกลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่ม โดยกลุ่มธุรกิจอื่นของกลุ่มได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (ร้อยละ 25-35 ของ EBITDA ของ SCC) และธุรกิจแพคเกจจิ้ง (ร้อยละ 20-30 ของ EBITDA ของ SCC)
ฟิทช์ คาดว่า สัดส่วนของ EBITDA ของ SCGC ใน EBITDA รวมของกลุ่ม SCC จะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เปิดดำเนินการ นอกจากนี้ SCGC ยังมีสัดส่วนในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ SCC ใช้ทั้งหมดในช่วงปี 2561-2563 โดยสัดส่วนดังกล่าวน่าจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2564-2565 จากการลงทุนโครงการ LSP
แผนการ IPO ไม่มีผลต่อความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ – SCC ได้มีการประกาศเจตจำนงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะนำหุ้น SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยคาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 ทั้งนี้ ฟิทช์ไม่คาดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC และ SCGC จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญหากการ IPO ดำเนินการแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม เงินที่จะได้รับจากการ IPO อาจเป็นปัจจัยบวกต่อสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC หากมีการนำเงินดังกล่าวไปใช้สำหรับชำระคืนหนี้ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ SCGC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังไม่มีการรวมเงินที่อาจจะได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญใดๆ ในการพิจารณาสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC เนื่องจากแผนการ IPO ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตลาด และยังมีความเสี่ยงในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ
กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย – ประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ของ SCGC มาจากกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์ และประมาณร้อยละ 40 มาจากกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าและการฟื้นตัว ของกำไรในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าของบริษัทฯ ฟิทช์คาดว่าความต้องการใช้สินค้าปิโตรเคมีของหลายกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม จะยังคงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสดีขึ้น
นอกจากนี้ SCGC ยังมีการส่งออกไปประเทศที่อยู่นอกกลุ่มประเทศอาเซียนประมาณร้อยละ 25-30 ของยอดขายรวม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส SCGC ได้รับประโยชน์จากช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่งและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือประเทศที่มีความต้องการซื้อสูง ทำให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง – สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย SCGC มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าโพลีโอเลฟินส์และใหญ่ที่สุดในกลุ่มสินค้าพีวีซี (คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น) ในประเทศไทยและอาเซียน
ฟิทช์ คาดว่า สถานะทางการตลาดของ SCGC จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จากโครงการ LSP ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม จะเพิ่มกำลังการผลิตโพลีโอเลฟินส์ให้กับบริษัทฯ ประมาณร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ SCGC มีสถานะเป็นผู้ผลิตโพลีโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อโครงการแล้วเสร็จตามคาดในปี 2566
ความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีขึ้น – SCGC เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (feedstock) ในการผลิตสินค้ากลุ่มโอเลฟินส์ ความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ feedstock เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีสามาร
เปรียบเทียบราคาต้นทุน feedstock แล้วปรับสัดส่วนการใช้ feedstock ระหว่างแนฟทาหรือก๊าซ เพื่อประหยัดต้นทุน ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นดังกล่าวของ SCGC ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่โครงการขยายกําลังการผลิตโอเลฟินส์ (ชื่อโครงการ MOCD) เสร็จสิ้นและดําเนินการผลิตเพิ่มขึ้นจนเต็มกําลังได้ในไตรมาสสองของปี 2564 โดย SCGC จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซได้สูงสุดร้อยละ 20-30 ของ feedstock ทั้งหมด จากเดิมที่ระดับร้อยละ 10-15
โรงงานใหม่ของ LSP มีสัดส่วนการใช้ feedstock ที่ยืดหยุ่นกว่าโรงงานปัจจุบันมาก โดยสามารถรองรับการใช้ก๊าซโพรเพนได้มากถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทฯ จากการพึ่งพิง feedstock เพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว
อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มขึ้น – ฟิทช์คาดว่า FFO net leverage ของ SCGC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4.2 เท่า ณ สิ้นปี 2564 และ 5.2 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2563) จากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ LSP ฟิทช์คาดว่า FFO net leverage จะลดลงมาอยู่ที่ 4.2 เท่า ณ สิ้นปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เริ่มเปิดดำเนินการ แผนการลงทุนของ SCGC มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564-2565 จากต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2562-2563
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินที่สูงบางส่วนได้รับการชดเชยจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า EBITDA ของบริษัทฯ จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.0-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564-2566 (ในปี 2563 อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท) โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) อยู่ที่ระดับร้อยละ 14-17 (ปี 2563 ร้อยละ 16.6)
ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: SCGC ต้องเผชิญความเสี่ยงจากลักษณะธุรกิจที่เป็นวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งระดับราคาสินค้า และราคาวัตถุดิบมีความผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการทำกำไร ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน และการสร้างกระแสเงินสดตลอดวัฎจักรของธุรกิจ กลยุทธ์ของ SCGC ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จะสามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการที่สินค้าถูกทดแทนและลดความผันผวนทางด้านราคา รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนอัตราการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCGC ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายและในเชิงกลยุทธ์ระหว่าง SCGC กับบริษัทแม่ที่อยู่ในระดับสูง สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตโพลีโอเลฟินส์ที่ใหญ่เป็นอันดับสอง และผู้ผลิตพีวีซีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สถานะเครดิตของ SCGC ถูกจำกัดจากการขยายการลงทุน ซึ่งทำให้มีแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วงสองปีข้างหน้า
ฟิทช์พิจารณาเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับ SCGC อยู่ในระดับสูงกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับบริษัทย่อยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP, ‘A+(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a (tha)) เนื่องจาก SCGC มีความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายกับบริษัทแม่อยู่ในระดับสูง จากการที่บริษัทแม่มีการค้ำประกันหนี้ของ SCGC
ในขณะที่บริษัทแม่ไม่มีการค้ำประกันหนี้ใดของ SCGP นอกจากนี้ ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ SCGC ที่มีต่อบริษัทแม่ก็อยู่ในระดับสูงกว่า ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วน ของ EBITDA จาก SCGC ใน EBITDA รวมของกลุ่ม SCC ที่สูงกว่าของสัดส่วนของ EBITDA จาก SCGP
ดังนั้น ฟิทช์จึงพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับ SCGP อยู่ในระดับปานกลาง และให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGP เป็นอันดับเครดิตที่รวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสูงสุดไม่เกินสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ อันดับเครดิตสุดท้ายของ SCGP หลังจากรวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าว จะไม่สามารถสูงเกินกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่ที่ A+(tha) ได้
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, ‘AA+(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง aa-(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า รวมทั้งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า SCGC
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP, ‘A+(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a-(tha)) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีกระบวนการกลั่นน้ำมันที่มีความคอมเพล็กซ์มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในระดับเดียวกันในธุรกิจของตนเอง
โดย SCGC มีความสามารถในการสร้าง EBITDA ที่สูงกว่า เนื่องจาก TOP ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจโรงกลั่นที่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้ง SCGC และ TOP ต่างอยู่ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม TOP มีความเสี่ยงในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาในช่วงอนาคตอันใกล้ ซึ่งสะท้อนจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
SCGC มีตำแหน่งทางการตลาดที่ดีกว่าและเผชิญความผันผวนทางธุรกิจที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, ‘A-(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb(tha)) IRPC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่อันดับสามในประเทศไทย สถานะเครดิตของ SCGC ที่สูงกว่า IRPC สะท้อนถึงอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโตสูงในอัตราประมาณร้อยละ 45 ในปี 2564 (ครึ่งปีแรกของปี 2564 เติบโตร้อยละ 54) โดยได้รับการสนับสนุนจาก โครงการ MOCD ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบกับปริมาณการขายและระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น
- รายได้ลดลงเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 1-3 ในปี 2565 และเติบโตสูงในปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิต
- EBITDA Margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 16-17 ในปี 2564 (ครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 24) เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่คาดว่าจะลดลงในครึ่งปีหลังของปี 2564 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 14-15 ในปี 2565-2566 เป็นผลมาจากกำลังการผลิตใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในตลาดซึ่งจะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 60
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC หากความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ:
- การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC
- ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ อันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ดังนี้
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
ปัจจัยลบ:
- FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: SCGC มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ร้อยละ 86 ของจำนวนนี้เป็นเงินกู้ยืมระหว่างกันจากบริษัทแม่ซึ่งมีลักษณะเป็นวงเงินหมุนเวียน สภาพคล่องของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจาก SCC ภายใต้ระบบบริหารการเงินแบบรวมศูนย์ที่บริษัทแม่ ในขณะที่แหล่งเงินทุนที่ใช้สำหรับโครงการ LSP ในช่วงสองปีข้างหน้ามาจากวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งบริษัทแม่ค้ำประกันให้ นอกจากนี้ สภาพคล่องของ SCGC ยังได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ข้อมูลบริษัท
SCGC เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย SCC และและเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม SCC ในการดำเนินธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งกลุ่ม SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGC เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายที่ใหญ่ป็นอันดับสองในประเทศไทยและอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี
วันที่จัดทำ Rating Committee ล่าสุด: 21 กันยายน 2564
อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCGC เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC ตามหลักเกณฑ์เรื่อง Parent Subsidiary Linkage
ติดต่อ
Primary Analyst
ณิชยา สีมานนทปริญญา
Director
+662 108 0161
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
Secondary Analyst
สมฤดี ไชยวรรัตน์
Director
+662 108 0160
Committee Chairperson
Hasira De Silva, CFA
Senior Director
+65 6796 7240
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ