- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 08 August 2021 23:13
- Hits: 17256
ฟิทช์ คงแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบแก่อันดับเครดิต บมจ.ไทยออยล์ ที่ ‘A+(tha)’
ฟิทช์ เรทติ้งส์ - กรุงเทพฯ - 5 สิงหาคม 2564: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ ‘F1(tha)’
การประกาศคงอันดับเครดิต เกิดขึ้นหลังจาก TOP ประกาศการเข้าซื้อหุ้นของ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP (อันดับเครดิตที่ BB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในสัดส่วนร้อยละ 15.38 จากกลุ่ม Barito ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงิน (Recapitalization Plan) หลังการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ยังสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการ Clean-fuel หรือ CFP ซึ่งใช้เงินลงทุนที่สูง ก่อนที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้นหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินงาน ในปี 2566
TOP มีแผนที่จะใช้เงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ซึ่งมีกำหนดชำระคืนไม่เกิน 18 เดือน จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (อันดับเครดิต BBB+/AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และจากสถาบันการเงิน ในการเข้าซื้อหุ้น CAP หลังจากนั้น บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากแผนจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยการขายหุ้นบางส่วนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) จำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 มาใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) เพื่อจะช่วยทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ลดลง
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การเข้าซื้อหุ้นจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น: การเข้าซื้อหุ้น CAP จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ TOP เพิ่มขึ้นไปอีก โดยปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินของ TOP อยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการ CFP และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ฟิทช์คาดว่าแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงิน ที่น่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 ร่วมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ และธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันหลังจากสถานะการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ TOP ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับ 3-4 เท่าภายในปี 2566-2567 จากในระดับที่สูงกว่า 8 เท่าในปี 2564-2565
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ TOP อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 4.5 เท่าในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจจะพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทฯ หากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินตามแผนและเวลาที่กำหนด และอุปสงค์ ค่าการกลั่นน้ำมัน และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ หากสภาวะเศรษกิจยังคงอ่อนแอต่อเนื่องหลังปี 2564
การขยายกิจการเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามแผน: การเข้าซื้อหุ้น CAP เป็นไปตามแผนของบริษัทฯ ในการกระจายแหล่งที่มาของกำไรที่ปัจจุบันมาจากธุรกิจปิโตรเลียมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม TOP มีความสามารถในการเข้าถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ CAP ในระดับจำกัด ซึ่งจะอยู่ในรูปของเงินปันผลรับ เนื่องจาก TOP เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม TOP จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายวัตถุดิบ (Feedstock Sales and Purchase Agreement) กับ CAP ซึ่งจะช่วยรองรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) และแนฟทา (Naphtha) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการ CFP แม้ว่าข้อตกลงเรื่องราคาและข้อตกลงอื่นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าที่ยุติธรรม (Arm’s Length)
แผนการลงทุนที่ไม่สามารถเลื่อนได้ในระดับสูง: TOP มีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระดับสูงในปี 2564-2565 เนื่องจากบริษัทฯ กำลังก่อสร้างโครงการ CFP นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนบางส่วนของโครงการในปีที่แล้วได้มีการเลื่อนมาในปี 2564-2565 เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้างที่เกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะมีอายุครบ 25 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 TOP มีแผนจะใช้เงินลงทุนจำนวนประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ 2 โครงการนี้ (เงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการ CFP) ในปี 2564-2566 ซึ่งจะทำให้ TOP มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นลบ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้น
การสนับสนุนจาก ปตท.: ฟิทช์เชื่อว่าการขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบจาก ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยถือหุ้นโดยตรงอยู่ร้อยละ 45 จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับ TOP ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินและสภาพคล่องของบริษัทฯ ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ปตท. เห็นชอบที่จะขยายเทอมการชำระเงินได้สูงถึง 90 วันถ้า TOP ต้องการ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน TOP ยังไม่ได้ขยายเทอมดังกล่าว
ฟิทช์คาดว่า TOP จะขยายเทอมการชำระเงินจาก 30 วันเป็น 90 วันในปี 2565 โดยฟิทช์ประมาณการว่า TOP จะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทที่ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการขยายเทอมการชำระเงินดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดความต้องการให้เงินทุนจากการกู้ยืม
ที่ผ่านมา ปตท. ได้ให้การสนับสนุนบริษัทย่อยหลักในกลุ่มอยู่แล้ว อาทิการขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-‘ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในปี 2556-2563 และเมื่อเร็วๆ นี้ ปตท. ก็ได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) โดยการซื้อหุ้นของ GPSC จาก PTTGC เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปใช้ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทฯ บางส่วน ซึ่งก็จะคล้ายคลึงกับการสนับสนุนที่จะให้แก่ TOP ตามแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงิน
ความสัมพันธ์กับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile) ของ TOP ซึ่งอยู่ที่ ‘a-(tha)’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. TOP เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อกลุ่ม ปตท. เป็นอย่างมาก TOP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นรายใหญ่ที่สุดของ ปตท. อีกทั้ง TOP มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทหลักของ ปตท. ในการขยายธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ TOP เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง
CFP เพิ่มศักยภาพธุรกิจ: CFP จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ TOP และความสามารถในการผลิตน้ำมันที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น และสามารถกลั่นน้ำมันดิบชนิดหนักมากขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันในฐานะผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่สูงของ TOP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาน้ำมันดิบ และช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ TOP ที่ ‘a-(tha)’ สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและโรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัท สถานะทางธุรกิจของ TOP แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต อัตราส่วนหนี้สินสุทธิฯ ของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างโครงการ CFP และจะลดลงหลังจากที่โครงการ CFP ดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบ
TOP มีโรงกลั่นน้ำมันที่คอมเพล็กซ์กว่าและมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า IRPC (มีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ bbb(tha)) แม้ว่า IRPC จะมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่า นอกจากนี้ TOP ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าในระยะยาว และมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า เนื่องจากบริษัทฯ สามารถดำเนินการกลั่นน้ำมันโดยใช้กำลังการผลิตที่เต็มที่มากกว่า ดังนั้นสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ TOP จึงอยู่สูงกว่าของ IRPC
TOP มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ PTTGC (มีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ aa-(tha)) PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า เนื่องจากมีการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า ดังนั้นสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ TOP จึงอยู่ต่ำกว่าของ PTTGC
สมมุติฐานที่สำคัญ:
ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564, 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565, 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ TOP
ค่าการกลั่นค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 แต่ยังคงไม่สูงมากนัก
การใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 100%-105% ในปี 2564-2565 และ 90% ในปี 2566-2567 เมื่อโครงการ CFP เริ่มดำเนินการ
กำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ค่อยๆปรับตัวในปี 2564
กำไรของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564-2567 ซึ่งครอบคลุมการลงทุนในโครงการ CFP (ซึ่งพิจารณารวมถึงเงินที่ได้จากการขาย ERU) โครงการโรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผน และค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา
เงินลงทุนจำนวน 914 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเข้าซื้อหุ้น CAP ในปี 2564 และอีกประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565
เงินรับจากการขายหุ้น GPSC จำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และจากการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565
การขยายเทอมการชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. จาก 30 วันเป็น 90 วันในปี 2565 และหลังจากนั้น
อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 50
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
แนวโน้มเครดิตอาจถูกปรับเป็นมีเสถียรภาพ หากบริษัทฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการลดอัตราส่วน FFO Net Leverage ให้ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.5 เท่าภายในปี 2566 โดยการเข้าซื้อหุ้นและแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินสำเร็จตามแผนในเวลาที่บริษัทฯ คาดการณ์ไว้
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยลบ:
อัตราส่วน FFO Net Leverage ไม่ลดลงตามที่คาดการณ์ ให้ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.5 เท่าภายในปี 2566
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: TOP มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งมากพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 8.7 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ฟิทช์คาดว่า TOP จะมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบในปี 2564 เนื่องจากการลงทุนที่สูง ซึ่งฟิทช์คาดว่าแผนการลงทุนของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่ในระดับสูง เงินกู้ระยะสั้น (Bridging loans) จาก ปตท. และสถาบันการเงิน ความยืดหยุ่นของเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. วงเงินกู้ที่มีกับ ปตท. จำนวน 2 พันล้านบาท
วงเงินกู้ประเภท Committed จำนวนประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7.2 พันล้านบาทจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดย TOP มีแผนที่จะชำระคืน Bridging loans ด้วยเงินที่ได้จากแผนการเพิ่มเงินทุน (Recapitalisation) ภายในไตรมาสสองของปี 2565 นอกจากนี้ TOP ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่จัดการได้ง่าย โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 16 ปี
เกี่ยวกับบริษัท
TOP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการกลั่นน้ำมันที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ บริษัทฯ ยังได้กระจายธุรกิจไปยังธุรกิจอะโรเมติกส์และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจสารทำละลาย เอทานอล และผลิตไฟฟ้า
ติดต่อ
Primary Analyst
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล
Senior Director
+66 2 108 0158
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
Secondary Analyst
โอบบุญ ถิรจิต
Director
+66 2 108 0159
Committee Chairperson
Muralidharan Ramakrishnan
Senior Director
+65 6796 7236
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ