- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Wednesday, 14 July 2021 20:14
- Hits: 20561
THAICOM บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริง ประเด็นข้อพิพาท สัญญาสัมปทานฯ ดาวเทียม 3-4-5-7-8
เนื่องจากมีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ และสื่อบางส่วน เกี่ยวกับบริษัทฯ ในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทฯ ที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ในโครงการดาวเทียมต่างๆ บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง โดยสรุปเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทฯ ดังนี้
ข้อเท็จจริงเรื่องโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์)
ประเด็น
- การจัดสร้างและจัดส่ง ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่ซึ่งมีคุณสมบัติและรายละเอียดทางเทคนิคไม่เหมือนกัน และใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันกับดาวเทียมดวงก่อน ขึ้นเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งมีประเด็นข้อสงสัยว่า ดาวเทียมไทยคม 4 มีสถานะเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 หรือไม่ และทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่
ข้อชี้แจง
- ดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดวงแรกของโลก เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บริษัทฯ จึงเสนอรายละเอียดข้อกำหนด (Specifications) ของดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อสนองตอบความต้องการใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ต่อกระทรวงฯ และได้นำเสนอแผนการจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมไทยคม 4 ต่อมา กระทรวงฯ ได้อนุมัติการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานฯ รวมทั้งการอนุมัติแผนการสำรองการให้บริการของดาวเทียมไทยคม 3 เพื่อให้มั่นใจว่าหากดาวเทียมไทยคม 3 ไม่สามารถให้บริการได้ ลูกค้าที่ใช้บริการบนดาวเทียมไทยคม 3 จะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน
- ดาวเทียมไทยคม 4 ที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้จัดสร้างนี้เป็นดาวเทียมขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของโครงการดาวเทียมของประเทศมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ดาวเทียมไทยคม 4 ที่บริษัทจัดสร้าง ตามสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนของบริษัทฯ ในการจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนในดาวเทียมทั่วไป และได้โอนกรรมสิทธิ์ดาวเทียมดังกล่าวให้แก่กระทรวงฯ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ บริษัทฯ เป็นผู้ลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม 4 เองทั้งหมด
- มีการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐ เฉพาะดาวเทียมไทยคม 4 เป็นจำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท ตลอดจนโครงการดาวเทียมไทยคม 4 ได้สร้างประโยชน์แก่ประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยในการดำเนินโครงการนี้ บริษัทฯ ก็ได้รับอนุมัติจากกระทรวงฯ และบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ
กรณีเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีการเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3
ประเด็น
- เมื่อดาวเทียมไทยคม 3 เกิดการเสียหายและต้องปลดระวาง และได้รับเงินสินไหมทดแทนจากการประกันภัยจำนวน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งไปจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 5 ทดแทน และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศมาให้บริการชั่วคราวระหว่างที่สร้างดาวเทียมไทยคม 5 ประเด็นคือ การนำเงินประกันส่วนหนึ่งไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศมาให้บริการชั่วคราวนั้น ขัดต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่
ข้อชี้แจง
- ตามสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทฯ มีหน้าที่ให้บริการอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน ขณะที่เกิดความเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 นั้น ดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ยังจัดสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากความเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3 เป็นความเสียหายที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เนื่องจากดาวเทียมลอยอยู่ในอวกาศ ดังนั้นกระทรวงฯ จึงกำหนดให้บริษัทฯ จัดหาดาวเทียมดวงใหม่หรือจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมมาให้บริการทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียหายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการให้บริการ
- บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงฯ ขออนุมัติจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ โดยการนำเงินค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยดาวเทียมไทยคม 3 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนในการจัดสร้างดาวเทียม แต่ทั้งนี้เนื่องจากการจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่จะต้องใช้เวลาหลายปี บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือถึงกระทรวงฯ เพื่อขออนุมัติจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมอื่นเพื่อทดแทนและสำรองในขั้นแรกระหว่างรอการจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ ซึ่งการจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมอื่นมาเพื่อทดแทนและสำรองนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสำรอง (Back-up) ดาวเทียมไทยคม 3 ที่กระทรวงฯ ได้พิจารณาและได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
- ต่อมากระทรวงฯ ได้พิจารณาแล้วอนุมัติเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 33 ล้านเหรียญสหรัฐให้บริษัทฯ เพื่อดำเนินการตามสัญญาสัมปทาน
- เงินจำนวน 26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สร้างดาวเทียมดวงใหม่ (ดาวเทียมไทยคม 5) และ
- เงินจำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมมาทดแทนช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 3 ที่เสียหาย
- บริษัทฯ ได้ทำการเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเพื่อไปจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมและจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ พร้อมทั้งจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเองในการจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ดังกล่าว และได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ของดาวเทียมดวงใหม่ (ดาวเทียมไทยคม 5) ให้แก่กระทรวงฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2549
- ดาวเทียมไทยคม 5 ที่บริษัทฯ ส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงฯ นั้นมีมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าเงินค่าสินไหมทดแทน ตามที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงฯ เพื่อไปดำเนินการตามข้างต้น
ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับเงินสินไหมทดแทนนั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานแล้ว ทุกประการ
ประเด็นข้อพิพาทที่อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
กรณีดาวเทียมไทยคม 5
ประเด็น
- เมื่อดาวเทียมไทยคม 5 ขัดข้องและต้องปลดระวางก่อนสิ้นสัญญาสัมปทานฯ อันเนื่องมาจากมีการใช้งานจนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมแล้ว บริษัทฯ ได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกร้องให้บริษัทดำเนินการสร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนไทยคม 5 หรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นราคาดาวเทียม ซึ่งนำไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
- ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้งานได้มากกว่าอายุดาวเทียมที่ออกแบบเกือบ 2 ปี (ครบอายุการในปี 2561) กรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 เนื่องด้วยการใช้งานเกินอายุซึ่งเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเมื่อดาวเทียมไทยคม 5 ปลดระวาง บริษัทฯ ยังคงมีดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรอง ให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานของสัญญาสัมปทานในการจัดส่งดาวเทียมครบถ้วนแล้ว
- แต่มีประเด็นว่า บริษัทฯ ต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนไทยคม 5 หรือชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
กรณีดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8
ประเด็น
- บริษัทฯ ดำเนินโครงการดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จาก กสทช. และได้รับอนุญาตให้นำวงโคจรมาใช้กับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 จาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในปัจจุบัน) และผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งการที่ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้แก่บริษัทฯ นั้นเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต เทียบเคียงได้กับ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ผู้ประกอบการมือถือทุกรายได้สิ้นสุดการให้บริการภายใต้สัญญาสัมปทาน และดำเนินการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. เช่น ในการประมูลคลื่นความถี่ 3G 4G และ 5G ทีผ่านมา
- การดำเนินโครงการดาวเทียมไทยคม 7 มีจุดเริ่มต้น มาจากการที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ บริษัทฯ ช่วยรักษาวงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งหากดำเนินการไม่ทัน ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิในวงโคจร 120 องศาตะวันออกไปแล้ว
- บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากภาครัฐ และเห็นชอบโดยมติ ครม. ให้ดำเนินการตามแผนการรักษาสิทธิวงโคจร โดยการสร้างดาวเทียมไทยคม 7 ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ โดยมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้วในอุตสาหกรรมดาวเทียม
- ณ เวลาที่เริ่มดำเนินโครงการไทยคม 7 และ ไทยคม 8 นั้น เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายในการประกอบกิจการดาวเทียมแล้ว และบริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการภายใต้ระบบใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ (พรบ กสทช) โดยได้รับอนุญาตจากภาครัฐครบถ้วน
- แต่มีประเด็นว่า การทำโครงการดาวเทียมใหม่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ แต่กระทรวงโต้แย้งว่า ต้องอยู่ภายใต้สัมปทานเพราะสัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด จึงนำไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
การจัดสรรวงโคจรด้วยการประมูลตามประกาศของ กสทช.
- เมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง โดยในปัจจุบัน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรวงโคจร สำหรับ การยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นใช้งาน ซึ่ง กสทช. ได้มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ในการจัดสรรวงโคจรด้วยการประมูล โดยเปิดกว้างให้เอกชนทุกรายที่เป็นบริษัทไทยสามารถเข้าประมูลได้ ในกรณีที่เอกชนรายใด ไม่มีประสบการณ์ในการประกอบกิจการดาวเทียมมาก่อน ก็อนุญาตให้ไปร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นที่เป็นบริษัทไทยหรือบริษัทต่างชาติก็ได้ที่มีประสบการณ์และร่วมกันมาเข้าประมูลวงโคจรได้ โดยวัตถุประสงค์ในการประมูล ก็เพื่อเป็นการรักษาวงโคจรที่มีอยู่ของประเทศ เพราะหากไม่มีดาวเทียมขึ้นไปใช้งานตามเวลาที่กำหนด ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิในการใช้วงโคจรดังกล่าว และเพื่อเป็นการนำรายได้จากการประมูลเข้าประเทศด้วย
- นอกจากนี้ ก็ยังมีการออกหลักเกณฑ์เพื่อเปิดเสรี ในการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมอีกด้วย โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมของต่างประเทศมาให้บริการในประเทศไทยได้
ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการดาวเทียมของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทดาวเทียมไทยแห่งแรกของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจมายาวนานร่วม 3 ทศวรรษ บริษัทฯ ยึดมั่นในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ด้วยการทำหน้าที่เป็นโครงข่ายพื้นฐานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิค และมุ่งมั่นปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในฐานะบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- "ไทยคม" เป็นชื่อพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกว่า ‘ไทยคม’ (THAICOM) มาจากคำว่า
Thai communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ - ในฐานะคู่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (“สัญญาสัมปทาน”) กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสัญญาดังกล่าว มีอายุ 30 ปี ตั้งแต่ 11 กันยายน 2534 – 10 กันยายน 2564 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานตามสัญญาและเจตนารมณ์ของสัญญามาโดยตลอด
- ในการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีการจัดสร้างดาวเทียมด้วยต้นทุนของบริษัทฯ และโอนกรรมสิทธิ์ในดาวเทียมให้เป็นทรัพย์สินของภาครัฐไปแล้วจำนวน 6 ดวง รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนที่นำเสนอโครงการตั้งแต่ต้น และ บริษัทฯ ยังได้นำส่งค่าส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวง รวมกันเป็นรายได้ให้แก่ภาครัฐ จนถึงปัจจุบัน เป็นเงิน 13,852.84 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญาคือ 1,415 ล้านบาทจำนวนมาก อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีส่วนสำคัญในการจองสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมให้กับประเทศและช่วยดำเนินการรักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิตลอดมาทั้งที่การดำเนินการบางกรณีมิใช่หน้าที่ตามสัญญาสัมปทาน
- ในการดำเนินโครงการดาวเทียมสื่อสารของบริษัทฯ รัฐยังได้รับการส่งมอบดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตดวงแรกของโลก คือดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อบริการสาธารณะ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลอย่างที่ไม่เคยมีดาวเทียมดวงใดในโลกสามารถทำได้มาก่อน ดาวเทียมไทยคม 4 ได้รับการยอมรับถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และได้ให้บริการต่อผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียฯลฯ
- บริษัทฯ ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายไทย และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมากกว่า 90%* และมีการบริหารกิจการที่โปร่งใส ไม่ถูกครอบงำโดยบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล หรือ บริษัทต่างชาติใดๆ และมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ในรูปแบบของเงินปันผลเท่านั้น โดยอ้างอิงตามผลกำไรขาดทุนและสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายในอัตราที่เท่าเทียมกัน บริษัทฯ เป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) อยู่เป็นจำนวนมาก คือ 20,059 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน บริษัทฯ จึงตั้งใจและมุ่งมั่นที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสังคม ประเทศชาติ และผู้ถือหุ้นทุกราย
- * ข้อมูลตามทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถือหลักทรัพย์สัญชาติไทยของ บมจ. ไทยคม จำนวน 95.26%
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ