- Details
- Category: บล.
- Published: Wednesday, 01 November 2017 16:27
- Hits: 2121
ทรีนีตี้ เปิดกลยุทธ์ลงทุนเดือนพ.ย. แนะลงทุนแบบ Selective
ทรีนีตี้ เปิดโผหุ้นเนื้อหอมเดือนพฤศจิกายน แนะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เหมาะแก่การลงทุนระยะยาว ส่วนกลุ่มค้าปลีกมีโอกาสได้อานิสงส์ในระยะสั้นจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช้อปช่วยชาติ มองดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1680 – 1750 จุด โดยตลาดยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนจากนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ตัวเลขภาคการผลิตและประธานเฟดคนใหม่
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนเดือน พฤศจิกายนนี้ ว่าจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มการปรับตัวขึ้นและปรับตัวลงอย่างจำกัด จึงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ selective โดยกลุ่มที่มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวได้แก่ กลุ่มที่ยังคงปรับตัว Laggard ตลาด เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังมีปัจจัยพื้นฐานรองรับได้แก่ ยอดขาย Semiconductor ทั่วโลกที่ยังคงปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มนี้แนะนำซื้อลงทุน HANA และ KCE
สำหรับ ในระยะสั้น มองกลุ่มค้าปลีกมีความน่าสนใจจากการขยายตัวของรายได้เกษตรกรเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้เข้าสู่โครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ของมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่อาจออกมาในช่วงปลายปีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย มองหุ้นที่ได้ประโยชน์หลักจากปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ GLOBAL และ SINGER
สำหรับ ทิศทางของดัชนีหุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายน ประเมินว่าจะแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 1,680-1,750 จุด โดย Upside ยังคงถูกจำกัดจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มมีการปรับพอร์ต หลังราคาหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจแข็งค่าขึ้นในช่วงถัดไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวคงไม่สามารถกดดันดัชนีให้ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญได้ เนื่องจากคาดว่าตลาดจะได้รับการประคับประคองจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่มักจะเป็นผู้ซื้อสุทธิในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF ที่ไหลเข้ามาลงทุน
“นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นมา สถิติการซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันในไตรมาส 4 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราคาดว่าในปีนี้น่าจะเห็นภาพดังกล่าวเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเมินว่าในปีนี้ยังมีผู้ที่ไม่ได้ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีจำพวก LTF/RMF อยู่พอสมควร สะท้อนจากยอดขายสุทธิของกองทุน LTF ที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้กว่า 17,000 ล้านบาท”
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในระยะสั้นมี 2 ประเด็นที่ต้องจับตา คือ 1.ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลก หากตัวเลขดังกล่าวเริ่มย่อตัว อาจกดดันต่อราคาโลหะอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับตัวลงของราคาโลหะอุตสาหกรรม จะเป็นปัจจัยบวกเชิงอ้อมต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากมีทองแดงเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งติดตามดัชนีค่าระวางเรือซึ่งมีผลต่อหุ้นกลุ่มขนส่งทางเรือ
2.ประธาน Fed คนใหม่ ซึ่งหากเป็นชื่อของนาย Jerome Powell (ดังที่ผลโพลคาดไว้ล่าสุด) คาดว่าบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วยรูปแบบการสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยไม่เร่งรัดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล แต่หากเป็นนาย John Taylor จะมีการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระแสทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจากจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น