- Details
- Category: บล.
- Published: Friday, 29 September 2017 18:55
- Hits: 4076
ทรีนีตี้ แนะนำจับตา มาตรการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ เป็นปัจจัยชี้ชะตาฟันด์โฟลว์ในช่วงถัดไป
ทรีนีตี้ ประเมินดัชนีหุ้นไทยเดือนตุลาคม แกว่งตัวออกด้านข้างหรือย่อตัวลงเล็กน้อย หลังดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงถัดไป จากนโยบายปฏิรูปภาษีทรัมป์ และ การลดขนาดงบดุลของเฟด ดันอัตราผลตอบแทนพันบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น สกัดความร้อนแรงเม็ดเงินไหลเข้าไทย แนะซื้อขายกรอบ 1620-1690 จุด โฟกัสหุ้นส่งออก และ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีสหรัฐ
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคมนี้ มีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้บ้าง หลังจากปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในเดือนกันยายน เนื่องจากประเมินว่ากระแสเม็ดเงินต่างชาติที่เคยไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากจะชะลอลง จากการคาดการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กดดันให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคเอเชียมีทิศทางที่อ่อนค่าลง ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ยังไม่ได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นตาม
ทั้งนี้ สัญญาณการแข็งค่าของดอลลาร์เกิดจาก ความคืบหน้าของมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ (Tax reform) ที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรายละเอียดออกมาแล้ว โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ 35% และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดลงสู่ระดับ 35% จากปัจจุบันที่ 39.6%
รวมไปถึงภาษีเงินโอนกลับเข้าประเทศทั้งในส่วนของกำไรและเงินปันผล สำหรับธุรกิจที่ตั้งถิ่นฐานนอกสหรัฐ จากเดิมที่ตั้งกำแพงภาษีไว้สูง จะมีการปรับลดลงมา ซึ่งจะจูงใจให้บริษัทข้ามชาติขนเงินกลับประเทศมากขึ้น จึงมีโอกาสที่เม็ดเงินฟันด์โฟลว์จะไหลกลับสู่สหรัฐ โดยในเดือนตุลาคมนี้จะเริ่มมีการรับฟังความคิดเห็นในสภาล่างของสหรัฐเกี่ยวกับประเด็นปฏิรูปภาษีดังกล่าว ซึ่งคงต้องรอดูว่าทางสภาคองเกรสจะใช้เวลาในการพิจารณารวดเร็วแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ในส่วนนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะมีการเริ่มต้นของกระบวนการลดขนาดงบดุลลงในเดือนตุลาคมนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกจะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 10,000 ล้านเหรียญฯ แต่จากระดับที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในปีหน้า น่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond yield) ค่อยๆไต่ระดับขึ้นได้ในช่วงถัดไป จนทำให้สินทรัพย์ของประเทศเกิดใหม่มีความน่าสนใจลดลงโดยเปรียบเทียบ
อีกหนึ่งสัญญาณความเสี่ยงต่อดัชนีหุ้นไทย คือ การเริ่มขายสุทธิของ นักลงทุนพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ (Prop trade) หลังจากซื้อสุทธิขึ้นมาก่อนหน้านี้ถึง 13,000 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาสถิติย้อนหลังพบว่า การเริ่มขายสุทธิของนักลงทุนกลุ่มนี้หลังจากที่ซื้อติดต่อกันมาในระดับ 10,000 ล้านบาท มักทำให้ ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากนั้นราว 1-2%
อย่างไรก็ดีมองว่า ตลาดหุ้นไทย จะปรับตัวลดลงไม่มาก เนื่องจาก ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ราคาโภคภัณฑ์สามารถยืนอยู่ในระดับสูงได้ เป็นบวกต่อกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักสูงในตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ยังมีประเด็นจากเม็ดเงิน LTF/RMF ที่คาดว่าเตรียมไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 37,000 ล้านบาท อีกทั้งตลาดหุ้นไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่โยกย้ายมาจากตลาดหุ้นเอเชียเหนือ จากกรณีพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐที่เกิดขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่เกิดการสู้รบขึ้นจริง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้นแนะนำถือเงินสดในระดับสูงกว่าปกติ แต่หากจะต้องลงทุนให้มองกรอบ 1620-1690 จุด เน้นกลุ่มส่งออกซึ่งได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าและยังเป็นกลุ่มที่ยังปรับตัวแพ้ตลาดนับตั้งแต่ต้นปี จึงมีความปลอดภัย สามารถถือลงทุนได้ต่อไป อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ธุรกิจการเกษตร นอกจากนั้น นักลงทุนยังอาจโฟกัสการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจในสหรัฐ ซึ่งจะได้ประโยชน์หากสภาสหรัฐผลักดันการลดภาษีนิติบุคคลเป็นผลสำเร็จ แนะนำ “ซื้อ” IVL ราคาเป้าหมาย 47.5 บาท และ TU ราคาเป้าหมาย 24 บาท