- Details
- Category: บล.
- Published: Tuesday, 28 March 2017 22:47
- Hits: 17034
บล.ภัทร คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 3.2% ใกล้เคียงปีก่อน ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐ-ส่งออก
บล.ภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้นี้ขยายตัวใกล้เคียงปีก่อนที่ 3.2% หลังได้รับแรงหนุนจากท่องเที่ยว- การลงทุนภาครัฐและส่งออก แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ พร้อมประเมินภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ โต 6-8% มอง กนง.วันพรุ่งนี้ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% และตลอดทั้งปีนี้ เหตุไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสู และเพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และ การลงทุนภาครัฐที่ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค และ การลงทุนภายในประเทศของภาคเอกชน และ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าของสหรัฐ ทั้งนี้ บล.ภัทร ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ในระดับประมาณ 3.2% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
สำหรับ ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และ สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยในระยะสั้นยังมีปัจจัยหลักๆ ที่ต้องจับตามอง เช่น สภาพเศรษฐกิจโดยรวม หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และ นโยบายในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงมีความเข้มงวดอยู่ ถึงแม้รายได้จากภาคเกษตรเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ปรับตัวขึ้น เช่น ยางพารา แต่ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทยังคงอ่อนไหวตามราคาตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ในระยะกลางถึงระยะยาวมีปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างจังหวัด การเกิดขึ้นของสังคมเมืองที่ใหญ่ขึ้น (Urbanization) ส่งผลให้ประชากรมีรายได้สูงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และ อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้จ่ายของประชากร ซึ่งที่อยู่อาศัยอาจจะได้รับปัจจัยหนุนดังกล่าว การเชื่อมโยงของหัวเมืองต่างๆ ในการเป็นจุดเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนเด็กและคนวัยทำงานกำลังจะลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ลักษณะ การใช้จ่ายเปลี่ยนไป เช่น มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนให้สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำตลาดที่มีรูปแบบโครงการเฉพาะด้านมากขึ้น
นางจิราภรณ์ ลินมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ บล.ภัทร คาดว่ายอดการเปิดตัวและการขายอสังหาริมทรัพย์ในระบบ จะเติบโตประมาณ 6-8% ส่วนหนึ่งมาจากแผนงานการเปิดตัวโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย คือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ที่วางแผนการเปิดตัวโครงการน้อยลงในปีนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจพบอุปสรรคในการหาเงินทุนเนื่องจากสภาวะความไม่มั่นใจในสภาพเครดิต ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในอัตราที่สูงอยู่เช่นเดิม
บล.ภัทร ไม่เห็นสภาพอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดอย่างชัดเจน และ โครงการส่วนใหญ่ยังมีอายุโครงการไม่เกิน 4 ปี ซึ่งถือเป็นอายุโครงการตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามสินค้าคงเหลือของคอนโดมิเนียมมีอัตราเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทางผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ในการขายมาช่วยระบายสินค้า ซึ่งมองว่า ทำเล และความสามารถในการกู้เงินของผู้ซื้อเป็นตัวแปรที่สำคัญในการลดสินค้าคงเหลือของคอนโดมิเนียม
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพและปริมณฑลในปี 60 ยังคงปรับฐานต่อเนื่องจากปี 59 หลังมาตรการกระตุ้นของภาครัฐหมดอายุลง ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมอสังหาริมทรัพย์จะยังคงชะลอตัว แต่ยังมีบางตลาดที่สามารถเติบโตได้ เช่น ตลาดบ้านเดี่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ผู้ประกอบการจึงควรหันไปเน้นตลาดบ้านเดี่ยวกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบนเนื่องจากยังมีกำลังซื้อ
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม KKP มองว่า ในปี 60 ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยยังเผชิญความท้าทาย 4 ประการ คือ ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างที่เริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินยังคงอยู่สูงต่อเนื่อง และ ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มเพิ่มขึ้นอาจทำให้แรงงานภาคก่อสร้างย้ายกลับไปภาคเกษตรมากขึ้นทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง
ฝ่ายวิจัยฯมีข้อแนะนำ 5 ประการ เช่น ประกอบการควรทำการวิเคราะห์วิจัยอุปสงค์และอุปทานในพื้นที่ที่จะทำโครงการเพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ผู้ประกอบการควรทำการวางแผนบริหารจัดการเงินสด (Cashflow Management) เพื่อรักษาสภาพคล่อง จับกระแสโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟรางคู่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จับกระแสเทคโนโลยี 4.0 เช่น การใช้เทคโนโลยี Smart Phone ในการสั่งงานต่าง ๆ ภายในบ้านและใช้บริการในโครงการ และ สุดท้าย จับกระแสสังคมสูงวัย กระแสรักสุขภาพ รวมถึงสังคมเมือง เช่น การจัดทำ Co-Living Space การสร้างความร่วมมือกับสถานพยาบาล เพื่อสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็ว เป็นต้น
ดร.พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันพรุ่งนี้คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อไป และ คาดว่าจะคงไว้ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากยังเป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และ ไทยยังมีการเกินดุลบัญชีสะพัดที่ระดับสูง
สำหรับ ค่าเงินบาทนั้นเชื่อว่าจะยังอ่อนค่าในระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ แต่ในระยะสั้นอาจเห็นค่าเงินบาทแตะในระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ หลังยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น และ ตลาดพันธบัครระยะสั้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ตลาดไม่ได้ตอบรับเท่าที่ควร โดยตลาดให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
"ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 9 พันล้านบาท จากปี 59 ที่ต่างชาติขายสุทธิ 7.8 หมื่นพันล้านบาท ซึ่งเขามองตลาดบ้านเราเป็นที่พักเงินที่ปลอดภัย และ ให้ผลตอบแทนที่สูง โดยมองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายตอนนี้ไม่น่าห่วง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทางธปท.ก็เข้ามาแทรกแซงเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานเงินทุนไม่ให้ไหลเข้าได้ทำให้ค่าเงินบาทเราแข็งค่าเร็ว และ แข็งกว่าเพื่อนบ้านเล็กน้อย แต่ดีต่อการลงทุน และ การบริโภค แม้ส่งออกจะเสียเปรียบไปบ้างก็ตาม"ดร.พิพัฒน์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย