- Details
- Category: บล.
- Published: Wednesday, 18 January 2023 12:56
- Hits: 1524
เจ. พี. มอร์แกน ปรับมุมมองบวกหุ้นไทยจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน
นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนอาจฟื้นตัวสู่ 2 ใน 3 ของระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด และส่งให้รายรับจากการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไทยในปี 2566
เจ. พี. มอร์แกน กลุ่มธุรกิจการเงินระดับโลก ได้ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นของประเทศไทยเป็น “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) จาก “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) จากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการประชุม J.P. Morgan Thailand Conference ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครในสัปดาห์นี้
เจ. พี. มอร์แกน กล่าวว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งไทยซึ่งเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงสุดรองจากฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าในปี 2562 จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศทางธุรกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก
นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทยของเจ. พี. มอร์แกน กล่าวว่า “การเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ของประเทศจีนเป็นปัจจัยเร่งสำคัญสำหรับสถานการณ์ขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในปี 2562 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยว 11 ล้านคนจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 29% ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยทั้งหมดก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด สำหรับปี 2566 เราคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทยทั้งสิ้น 26 ล้านคน ซึ่งอยู่ในระดับ 65% ของปี 2562 และสูงกว่าที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ที่ 25 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 39,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ซึ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไทย”
นายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นอกจากนี้ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นโครงการคืนภาษีล่าสุดของรัฐบาล โดยเปิดให้ผู้บริโภคสามารถลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะช่วยเสริมการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศระยะสั้น” ทั้งนี้การใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอย่างมาก
เจ. พี. มอร์แกน มีเป้าหมายพื้นฐานที่ 590 สำหรับดัชนี MSCI Thailand และ 1,800 สำหรับดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2566 โดยปรับมุมมองให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และการดูแลรักษาสุขภาพ
ในภาพรวม เจ. พี. มอร์แกน เชื่อว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนน่าจะกลับมาในครึ่งแรกของปี 2566 โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศให้เริ่มเปิดชายแดนกับฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนที่กลับมาเป็นปกติ
นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล กล่าวว่า “เราคิดว่ามีความต้องการของประชากรจีนอย่างมากที่รอเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ การคาดการณ์พื้นฐานของเราคาดว่าการท่องเที่ยวนอกประเทศของประชากรจีนจะเริ่มกลับสู่ภาวะเดิมภายในช่วงท้ายของไตรมาสแรก และการกลับสู่ภาวะเดิมอย่างเต็มรูปแบบของการท่องเที่ยวทั่วโลกของนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มในช่วงกลางปี โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปี 2566 สู่ระดับ 50% ของระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด”
แรงหนุนจากเงินเฟ้อที่ชะลอลง ค่าเงินบาทและการเลือกตั้ง
นอกจากอานิสงส์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแล้ว เจ. พี. มอร์แกน คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยเสริมตลาดทุนไทยในปี 2566 ได้แก่เงินเฟ้อที่ชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลง และการเติบโตของค่าจ้างที่ไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งส่งให้กำไรของธุรกิจไทยปรับดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และเจ. พี. มอร์แกน คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์อีกสองครั้งในไตรมาสนี้ จนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75 เปอร์เซ็นต์
การปรับอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง และ เจ. พี. มอร์แกนคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ภายในสิ้นปี 2566 จาก 6.3% ในปี 2565 นายอาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล กล่าวว่า “ต้นทุนด้านราคาที่ต่ำลงคาดว่าจะส่งผลบวกอย่างยิ่งแก่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจด้านสาธารณูปโภคในประเทศไทย ซึ่งมีหนทางจำกัดในการหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2565”
ในขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทซึ่งได้รับแรงหนุนจากรายรับของการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นและราคาขนส่งสินค้าที่ลดลงและช่วยให้บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยอยู่ในลักษณะเกินดุลในปีที่แล้วนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปีนี้ โดยนายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ กล่าวว่า “เรามองว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นน่าจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในหลักทรัพย์”
นอกจากนั้น เจ. พี. มอร์แกน มองว่าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะสร้างแรงหนุนในระยะสั้นแก่ตลาดหุ้น จากการวิเคราะห์ในอดีต ค่ากลางผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทยในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5% โดยหมวดอิเล็กทรอนิกส์พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม และการพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้เหนือตลาดรวม อย่างไรก็ดีผลบวกนี้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะปานกลาง
A1371