- Details
- Category: บล.
- Published: Wednesday, 03 September 2014 18:54
- Hits: 3802
บล.ทรีนีตี้ ส่องภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งแรกเดือนกันยายนลุ้นทดสอบ 1,580 จุด
บล.ทรีนีตี้ มองภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกเดือนกันยายน ดันชีมีลุ้นทดสอบ 1,580 จุด จากความเชื่อมั่นการจัดงานไทยแลนด์โฟกัสและมีสภาพคล่องจากพันธบัตรครบอายุกว่า 10,000 ล้านบาท ไหลเข้า บวกกับคาด ECB ส่งสัญญาณใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่ครึ่งเดือนหลังมีปัจจัยเสี่ยงจากคาด FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย-กองทุนทาร์เก็ตฟันด์เทขาย
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงภาพการลงทุนในเดือนกันยายนนี้ผ่านรายงาน The Big Picture ว่า คาดดัชนีตลาดหุ้นไทย SET Index ในช่วงครึ่งเดือนแรกจะเคลื่อนไหว Sideways up และมีลุ้นขึ้นทดสอบระดับ 1,580 จุด โดยแนะนำให้การถือหุ้นต่อสำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้วเพื่อปล่อยให้กำไรวิ่งไปต่อ (Let profit run) ก่อนเริ่มหาจังหวะขายทำกำไรในช่วงกลางเดือนจากประเด็นความเสี่ยงที่อาจเข้ามาในช่วงครึ่งเดือนหลัง
โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้ ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ทิศทางเม็ดเงินลงทุน (Fund flow) ที่มีโอกาสไหลเข้าจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูงขึ้นจากการจัดงาน Thailand focus และสภาพคล่องในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท จากการครบกำหนดอายุของพันธบัตรออมทรัพย์ ในขณะที่คาดการณ์การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.57) อาจเริ่มมีการส่งสัญญาณความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในช่วงกลางเดือนนี้ (16-17 ก.ย.57) มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการอาจมีความเห็นให้มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจทำให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ มีความผันผวน จนส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นได้ นอกจากนี้อาจมีแรงขายกดดันจากกองทุนที่มีการตั้งเป้าหมายผลกำไรที่ได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน (Trigger fund) ที่บริเวณดัชนี 1,590 – 1,600 จุด ประกอบระดับมูลค่าตลาด Valuation ของ SET Index ที่เริ่มสูงแล้ว
สำหรับ หุ้นที่แนะนำในเดือนกันยายน ได้แก่ กลุ่มเดินเรือที่ได้อานิสงส์จากค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ TTA, PSL, RCL, กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ TMB, LHBANK, กลุ่มโรงไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกที่ยังคงมีราคาถูกในเชิง P/BV ที่ต่ำ ได้แก่ CKP, IFEC, AKR, และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ BMCL, BLAND