- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:20
- Hits: 3787
ธปท.เผยเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีสัญญาณฟื้นแบบ V shape หลัง ก.ค.เริ่มทรงตัว
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีสัญญาณเป็นบวก แม้ว่าในช่วงเดือน ก.ค.ภาวะเศรษฐกิจจะทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่เริ่มมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวในลักษณะ V Shape สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากผลของความเชื่อมั่นทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค.56
แต่ทั้งการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะยังเห็นไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากภาคการส่งออกยังชะลอตัว เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในเอเชียยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้คาดว่า ธปท.อาจจะมีการปรับประมาณการตัวเลขส่งออกใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราว 3% ในปีนี้ รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาพลังงานล่าสุดเป็นปัจจัยที่ที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รอบหน้าวันที่ 17 ก.ย.57 ต้องนำมาประกอบการพิจารณาประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้งด้วย
ทั้งนี้ ธปท.แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ค.57 ว่า เศรษฐกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน อุปสงค์ในประเทศขยายตัวตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และรายได้นอกภาคเกษตรที่ยังสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกยังฟื้นตัวช้า และภาคการผลิตอยู่ระหว่างการระบายสินค้าคงคลังส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวมีสัญญาณปรับดีขึ้นเป็นลำดับภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนและนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มคลายความกังวล
ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ สำหรับดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลหลังจากนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นและกลับมาลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล
ธปท.ระบุว่า การใช้จ่ายในประเทศปรับดีขึ้น แต่การส่งออกยังฟื้นตัวช้า ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของครัวเรือนและธุรกิจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งกำลังซื้อของครัวเรือนที่ยังสนับสนุนการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน อาทิ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังค่อนข้างทรงตัว ในภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนเริ่มขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างในพื้นที่นอกเขตเทศบาล จากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของภาคธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มลงทุนหลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนและใบอนุญาต รง. 4 ซึ่งไม่สามารถอนุมัติได้ในช่วงก่อนหน้าแต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว
อุปสงค์จากภูมิภาคเอเชียที่ยังคงชะลอตัว ราคายางพาราที่ตกต่ำ รวมทั้งปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตของไทยที่ไม่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของตลาดได้มากนักส่งผลให้การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 18,700 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวจากทั้งเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม ยางพารา และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ภาคอุตสาหกรรมยังมีสินค้าคงคลังในระดับสูง ผู้ประกอบการจึงพยายามระบายสต็อกและยังไม่เพิ่มระดับการผลิต ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น ในเดือนนี้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นปิโตรเลียม และการลดระดับการผลิตอาหารและเครื่องดื่มหลังจากที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมจึงอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 17,249 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ แต่โดยรวมการนำเข้าสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ
ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากปลายเดือนก่อน ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียกลับมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีหลายประเทศยังคงระดับคำเตือนประชาชนในการเดินทางมาประเทศไทย ส่งผลให้ในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงต่ำกว่าระดับปกติ และหดตัวร้อยละ 10.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน
รายได้เกษตรกรทรงตัวจากเดือนก่อน แต่หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากผลของราคาโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่สต็อกโลกอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์จากจีนชะลอลง อย่างไรก็ดี การชะลอการระบายสต็อกข้าวของทางการ ผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดน้อยลง รวมถึงความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดโลกที่มากขึ้น ช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ปรับต่ำลงต่อเนื่อง ด้านผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้า แต่หากเทียบกับเดือนก่อนผลผลิตสินค้าเกษตรค่อนข้างทรงตัว
ภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและรายจ่ายเพื่อการศึกษา อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนยังทำได้ค่อนข้างช้า สำหรับรายได้นำส่งลดลงเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีฐานการค้าระหว่างประเทศ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายยานยนต์และภาวะการค้าต่างประเทศที่ลดลงจากปีก่อน รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 36 พันล้านบาท
สำหรับ เสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน ประกอบกับการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้ม (LPG) ไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปชะลอตัวลงหลังจากผู้ประกอบการได้ทยอยปรับขึ้นราคาไปแล้วในช่วงก่อน เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่อง แต่ในเดือนนี้การส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติตามฤดูกาล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล สำหรับดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลหลังจากนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นและกลับมาลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล