- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 28 August 2014 23:48
- Hits: 2869
เมินใช้ประชานิยมบูม ศก.แบงก์ชาติมั่นใจครึ่งปีหลังจีดีพีขยายตัวโตได้ 2%
บ้านเมือง : ธปท.ชี้ไม่จำเป็นต้องใช้ประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจไทย มั่นใจครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโตได้ดี ดันทั้งปีโตได้ 2% ยาหอมจีดีพีปีหน้าพุ่งแตะ 5.5% จากฐานต่ำในปีนี้-อานิสงส์การลงทุนทะลัก หลังจากอั้นไว้ในปีนี้ พร้อมแนะกระทรวงคลังคลอดแพ็กเกจบูมเศรษฐกิจคราวเดียว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของไทยแล้วเศรษฐกิจในแต่ละปีมีโอกาสจะเติบโตได้ในระดับ 4-4.5% แต่เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3-4% ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งปีเติบโตได้ 2% ส่วนปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 5.5% ซึ่งไม่ถือว่าสูงเกินไป เพราะเป็นการเทียบกับฐานที่เติบโตต่ำในปีนี้ ประกอบกับมีแรงอั้นด้านการลงทุนไปจากในปีนี้ ดังนั้น คงจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่การเติบโตได้เต็มศักยภาพตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
"ธปท.ได้พยายามผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยกระดับการเติบโตของประเทศให้เข้าสู่ศักยภาพ ซึ่งขณะนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงแล้ว หวังว่าเราจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาเต็มตามศักยภาพได้ ขณะเดียวกันยังต้องพยายามเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวต่อว่า การพยายามสร้างศักยภาพของประเทศให้เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากต้องอาศัยนโยบายด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนโยบายทางการเงินเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น ความสามารถของแรงงาน, การศึกษา, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความมั่นใจของผู้ลงทุน ซึ่งถ้ามีความมั่นใจก็จะช่วยในเรื่องการตัดสินใจลงทุนระยะยาวได้
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า ขณะนี้ตลาดการเงินของไทยถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างดี โดยดูได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ การเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้ง 2 ทิศทาง คือทั้งเข้าและออกจากตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ทั้งนี้ ธปท.ก็ไม่ได้ประมาท โดยได้เตรียมพร้อมเครื่องมือที่สำคัญไว้รองรับ เช่น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น,เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่สิ่งสำคัญ คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่ยังดีอยู่ ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากจนเกินไป โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานไม่สูงมาก ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สามารถอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานไม่สูงมาก ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอ
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น แม้ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงถึง 83% ของจีดีพี แต่ก็ถือว่าเริ่มชะลอตัวลงจากกลางปี 56 ซึ่งสามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง และจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อต่างๆ มีความระมัดระวังมากขึ้น และการขยายสินเชื่อในภาคครัวเรือนขณะนี้ไม่ได้ขยายตัวสูงดังเช่นในอดีต แต่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ หนี้ภาคต่างประเทศ ที่ต้องติดตามความผันผวนอย่างใกล้ชิด
นายประสาร กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังว่า ควรจะออกมาเป็นแพ็กเกจในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความครบถ้วนทั้งในแง่ของรายได้และรายจ่าย โดยมองว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ด้านรายจ่ายน่าจะขับเคลื่อนได้เป็นปกติ ไม่เหมือนกันช่วงก่อนหน้าที่มีปัญหาการเมือง เมื่อนโยบายการคลังขับเคลื่อนได้ก็จะเป็นภาระต่อนโยบายทางการเงินน้อยลง
ในด้านการจัดเก็บรายได้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อรักษาสมดุลด้านการคลัง แต่การปรับขึ้นอัตราภาษีหากทำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจกลายเป็นตัวหยุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่คงต้องพิจารณาภาพรวมให้สอดคล้องกันอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไม่ควรดำเนินมาตรการอย่างใจร้อน แต่ควรทำในลักษณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไป และต้องเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามที่ได้รับการจัดสรรไว้ หรือการเร่งอนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนของโครงการภาคเอกชน ถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระบบได้
"เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3-4% ทำให้ทั้งปี โตได้ 2% ดังนั้น ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นจะต้องมี นโยบายประชานิยมมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่ควรเน้นแก้ไขเฉพาะปัญหาผู้เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม เพื่อจะไม่สร้างปัญหาในระยะยาว ที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และอนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนให้เกิดทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เม็ดเงินกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจ และยืนยันว่านับตั้งแต่มีการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการทำงานของ ธปท.แต่อย่างใด" นายประสาร กล่าว