- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 05 December 2017 11:31
- Hits: 3901
ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ พ.ย.ดีขึ้น เหตุเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว ยอดลูกค้าเพิ่มทั้งใน-ตปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน พ.ย.60 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก 50.6 ในเดือนต.ค. มาอยู่ที่ระดับ 51.3 สูงกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 7 โดยองค์ประกอบเกือบทุกด้านปรับดีขึ้น และยืนอยู่เหนือระดับ 50
ยกเว้นดัชนีฯ ด้านต้นทุนที่ปรับลดลง สะท้อนถึงความกังวลด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ อาทิ ขนส่งและคมนาคม ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และการค้าส่ง
สำหรับ ความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นในเดือนนี้ มาจากผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่พักแรม และบริการด้านอาหารที่ได้รับผลดีจากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว สะท้อนจากยอดจองจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับดีขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตามความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการในภาคการผลิตปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่เหนือระดับ 50
สำหรับ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 54.2 โดยลดลงในทุกองค์ประกอบ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ทั้งภาคการผลิตและมิใช่การผลิตยังอยู่เหนือระดับ 50 แสดงว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงประเมินว่าภาวะธุรกิจโดยรวมน่าจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบัน แม้สัดส่วนของผู้ที่มีความเชื่อมั่นที่ดีปรับลดลงบ้าง
ขณะที่ดัชนีฯ ที่ปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 จะอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์การผลิต สิ่งทอและเครื่องแต่งกายและธุรกิจค้าส่ง ตามคาดการณ์ปริมาณคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิต และการค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ
ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยต.ค.ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ต่างประเทศเป็นหลัก การลงทุน-บริโภคเอกชนยังชะลอ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างทรงตัวจากปัจจัยชั่วคราว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงบ้าง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 14.1% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องทุกตลาดส่งออกสำคัญและในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1.ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมถึงการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ตามการส่งออกยางล้อ เกียร์กระปุก และเครื่องยนต์ 2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ ตามการส่งออกหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โทรศัพท์มือถือ และแผงวงจรรวม 3.สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และ 4.สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากวันหยุดทำการที่มากกว่าปกติและการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าของบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวดี
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัว 20.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ ประกอบกับผลของฐานต่ำจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในปีก่อน เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการก่อสร้างอาคารและการซื้อเครื่องใช้สำนักงานของมหาวิทยาลัย และการเบิกจ่ายเพื่อพัฒนาเคหะและชุมชนของกลุ่มจังหวัด รวมถึงการเบิกจ่ายของหน่วยงานหลักยังขยายตัวดี
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ โทรคมนาคม พลังงาน และอุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มของธุรกิจบริการและขนส่ง อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลงส่วนหนึ่งจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงจากปัจจัยชั่วคราว ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน และสินค้ากึ่งคงทน สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง โดยรายได้ในภาคเกษตรกรรมกลับมาหดตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว
มูลค่าการนำเข้าสินค้า ขยายตัว 16.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 18.4% ตามการนำเข้าที่ขยายตัวในเกือบทุกสินค้า ได้แก่ 1.หมวดเชี้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน 2.หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าโลหะ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวม และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และ 4.หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอาง เป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.86% เท่ากับเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนตามภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1.การชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินที่กู้เข้ามาเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า 2.การขายสุทธิตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติ และ 3.การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย
ธปท. คาดส่งออกปี 60 มีโอกาสโต 2 หลัก หลัง 10 เดือนโต 9.5%, คาด GDP Q4/60 โต 4.6% หนุนทั้งปีโต 4%
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2560 มีแนวโน้มจะเติบโต 2 หลัก ซึ่งสูงกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้ที่ 8% โดยการส่งออกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขยายตัว 9.5% ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4% โดยไตรมาส 4/60 มีความเป็นไปได้ว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.6% เนื่องจากบรรยากาศเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ภาครัฐก็เร่งการใช้จ่ายผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 61 จะเป็นการขยายตัวที่มีความมั่นคงมากขึ้น โดยเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการส่งออกมาเป็นภาคการบริการ และจะเห็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยยังมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวจากปัจจัยภายนอก เช่น การใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยภายใน เช่น การกระจายตัวของกำลังซื้อ และการลงทุนภาคเอกชน ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับ ค่าเงินบาทนั้น นายดอน กล่าวว่า แม้จะมีนักลงทุนเป็นห่วงว่ามีการแข็งค่าในรอบหลายปี แต่ข้อเท็จจริงแล้วค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้น 9.93% เป็นการแข็งค่าตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินวอนแข็งค่าที่สุด 11.77% ส่วนค่าเงินริงกิตแข็งค่า 9.74% โดยค่าเงินบาทปัจจุบันที่ 32.57 บาท/ดอลลาร์ เป็นการแข็งค่าขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าเมื่อเทียบจากปี 2557 เฉลี่ย 32.48 บาท/ดอลลาร์ และมีการแข็งค่าสูงสุดที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์
อินโฟเควสท์