WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAดารณ แซจธปท.คาดกำไรแบงก์ปีนี้ - ปี 61 ลดลงต่อเนื่อง หลังค่าฟีหดจากพร้อมเพย์ หวั่น NPL ช่วง Q4/60 นิวไฮตามกลุ่มเอสเอ็มอี

     ธปท.คาดกำไรแบงก์ปีนี้ ปี 61 ลดลงต่อเนื่อง หลังค่าฟีหดตามยอดใช้พร้อมเพย์พุ่ง เชื่อแบงก์จะเร่งปล่อยสินเชื่อหารายได้จากดอกเบี้ยชดเชย หวั่น NPL แบงก์ช่วง Q4/60 จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นหลัก ส่วนสินเชื่อปี 60 คาดโต 4% จากเป้า 4-6% ขณะที่ภาพรวม Q3/60 แบงก์พาณิชย์มีกำไร 4.67 หมื่นลบ. ลดลง 6.4% จาก Q2/60 ที่มีกำไร 4.88 หมื่นลบ. เหตุกันสำรองฯ เพิ่มขึ้น ส่วน NPL แบงก์พาณิชย์ ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.97% จาก Q2/60 ที่ 2.95%

  นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธปท.คาดว่ากำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และจะยังเป็นแรงส่งที่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไตรมาส 4 ปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินที่ปรับตัวลดลง จากการสนับสนุนการใช้พร้อมเพย์ด้วย

  ขณะที่ปี 2561 ประเมินว่ากำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จะลดลงต่อเนื่อง จากแนวโน้มการใช้พร้อมเพย์ของประชาชนจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์จะเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อจะเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ภาครัฐพยายามขับเคลื่อนให้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อเข้ามาชดเชย ขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการกันสำรองคงไม่เพิ่มมากขึ้นด้วย   

 “สินเชื่อเรามองว่ายังขยายตัวได้ดี แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับภาวะของเศรษฐกิจด้วยว่าจะออกมาในทิศทางใด แต่เบื้องต้นที่มองคือ ปีหน้าเรามองว่า พร้อมเพย์จะเริ่มใช้มากขึ้น และจะทำให้รายได้- กำไรของแบงก์น่าจะลดลง เนื่องจากค่าฟีจากการโอนเงินลดลง แต่ก็ต้องดูว่าแบงก์จะปรับตัวได้ดีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้มีรายได้ดอกเบี้ยเข้ามาชดเชย ซึ่งหากปล่อยได้มากก็เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยเรื่องรายได้ไม่ให้ลดลงไปมาก ขณะที่ไตรมาส 4 ปีนี้มองว่ากำไรของแบงก์พาณิชย์น่าจะทรงตัว”นางสาวดารณี กล่าว

   สำหรับสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ที่ใกล้เคียง 4% จากที่ธปท.คาดการณ์สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปีนี้เติบโตที่ระดับ 4-6%

   ขณะที่ผลการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/2560 ที่ผ่านมา พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 4.6 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/60 ที่มีกำไร 4.88 หมื่นลบ. หรือคิดเป็น -6.4%  และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 5 หมื่นล้านบาท หรือ -8% จากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 1.04% จากไตรมาสก่อนที่ 1.09% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ค่อนข้างทรงตัวที่ 2.78% 

    สำหรับ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,447 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ในระดับสูงที่ 18.4% และ 15.8% ทั้งนี้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับภาพรวมของการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตราสารหนี้ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ หากรวมสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้จะขยายตัวที่ 4.5%

    ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.97% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 2.95% โดยมียอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 428 พันล้านบาท ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรงอรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 584 พันล้านบาท 

    “ด้านของคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภค แม้ว่าจะมีมาตรการคุมเข้มบัตรเครดิตแต่อาจจะยังไม่ได้เห็นผลมากในช่วงนี้ เพราะเพิ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ตัวหลักที่ทำให้หนี้ลดลงในกลุ่มบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล เป็นผลจากแบงก์มีการบริหารจัดการหนี้เสียมากขึ้น โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมาหนี้เอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.43% เป็นต้น”นางสาวดารณี กล่าว 

    นางสาวดารณี กล่าวว่า สำหรับปัญหาของ PACE มองว่า เป็นปัญหาของบริษัทเองซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวม เนื่องจากมองว่าในระยะต่อไปอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง  โดยปัญหาการชำระหนี้ของ Pace นั้น เป็นการเจรจาเชิงธุรกิจที่ ธปท. ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นปกติต่อเนื่อง 

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!