- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 08 November 2017 22:56
- Hits: 4965
กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงดบ.นโยบายที่ 1.5% ต่อปี ชี้ศก.ไทยดีกว่าคาด -เฝ้าระวังนโยบายศก.สหรัฐฯทำบาทผันผวน
กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี มองศก.ไทยปีนี้ดีกว่าคาด มั่นใจเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเข้ากรอบเป้าหมาย ช่วงกลางปี 61 ยันมาตรการช้อปช่วยชาติ จะส่งผลดีต่อการบริโภค พร้อมจับตานโยบายศก.สหรัฐ ชี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำเงินบาทผันผวนในอนาคต
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.ในวันนี้ (8 พ.ย.60) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่เสถียรภาพทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป โดยคณะกรรมการ ยังเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันยังเอื้อต่การขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ แม้ว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนานมองว่า จะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-4% ในช่วงกลางปี 2561 ขณะที่มาตรการชอปช่วยชาติ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นด้านการบริโภค แต่ผลต่อระบบเศรษฐกิจนั้นจะต้องติดตามผลหลังจากมาตรการบังคับใช้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอตัวลงบ้างตามการเบิกจ่าย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ทั้งนี้ ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจมีต่อค่าจ้างแรงงานในระยะข้างหน้า”นายจาตุรงค์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเมียบกับดอลลาร์ ทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ส่วนเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า มองว่า อัตราแลกเปลี่่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องติดตามระบบการเงินโดยรวม ที่อาจมีความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย