WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOA copyแฉ SME เสี่ยงสูงธปท.จี้ทำประกันก่อนค่าเงินป่วน

       แนวหน้า : นายพรหมวรัท ประดิษฐ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ มองต่างมุม : ส่งออกดี แต่เอสเอ็มอีไม่ได้ประโยชน์ จริงหรือ" โดยระบุว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ของไทย ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังทำประกันความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีทำประกันความเสี่ยงไม่ถึง 20%

     "มีเสียงบ่นกันว่า  แม้การส่งออกดีขึ้น จะทำให้รายได้ของ เอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น แต่หากเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นรูปเงินบาทแทบจะไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งหากดูโครงสร้างการชำระเงินค่าสินค้าออกโดยดูข้อมูลจากใบขนสินค้า พบว่า เอสเอ็มอี ใช้เงินบาทในการค้าขายมากกว่ากลุ่มส่งออกรายใหญ่ เพราะเอสเอ็มอี มีตลาดส่งออก หลักคือกลุ่มประเทศกัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี) ซึ่งใช้เงินบาทค่อนข้างมาก ดังนั้น เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าน้อยกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่"

      นายพรหมวรัท กล่าวว่า ถึงแม้เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่เอสเอ็มอียังมีความเสี่ยงจากการ เปลี่ยนแปลงของค่าเงินเพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักใช้วัตถุดิบในประเทศ จึงมีต้นทุนในรูปเงินบาทมากกว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่ ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น แม้รายรับ ในรูปเงินบาทของเอสเอ็มอีและผู้ส่งออกรายใหญ่ จะลดลงในอัตราเดียวกัน แต่รายจ่ายจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ของผู้ส่งออกรายใหญ่จะลดลงได้มากกว่าเอสเอ็มอี และทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับ ผลกระทบในรูปของการทำกำไรและผลประกอบการจากค่าเงินมากกว่า

        สำหรับ ผลการศึกษาของธปท. ที่ผ่านมา และการสำรวจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิม แบงก์ พบว่า บริษัทที่ใช้เครื่องมือบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถึง 20% ของเอสเอ็มอีที่ส่งออกทั้งหมด ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสม่ำเสมอ

        ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่ค่อยทำประกันความเสี่ยง หรือใช้เครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจาก เอสเอ็มอีไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือในการป้องกัน ต้นทุนของการใช้เครื่องมือค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ค่าเงินผันผวน ดังนั้นทำให้ผู้ประกอบการ เลือกรับความเสี่ยงไว้เอง

      ขณะเดียวกัน บางรายเชื่อว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น มากๆ หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการปล่อยปละละเลยการป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่เงินบาทโน้มแข็งค่ามากและต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระบบประเภทลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ ซึ่งจะให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกตลาด และการใช้เครื่องมือในการดูแลนั้น เพื่อลดทอนความผันผวน ไม่ให้มากเกินไป

        ทั้งนี้ ธปท. ยืนยันว่า ธปท.ไม่สามารถ ฝืนกลไกตลาดหรือแนวโน้มของโลกได้ ดังนั้นผู้ส่งออกเองจะต้องหมั่นสอดส่องดูแล และใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกัน เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และส่งเสริมความรู้ให้กับเอสเอ็มอี ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!