- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 20 October 2017 22:43
- Hits: 12671
ผู้ว่า ธปท.ระบุ IMF จับตาการฟื้นตัวศก.โลก-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์-มาตราการกีดกันการค้า-ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ภาคการเงิน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมประจำปีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ปี 2560 ว่า IMF ได้ประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกดีขึ้น โดยปี 2560 ขยายตัว 3.6% และปี 2561 ขยายตัว 3.7% ซึ่งการฟื้นตัวเป็นไปในลักษณะกระจายตัว ไม่ได้อยู่เฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายตัวของตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง มีการจ้างงานสูงขึ้น อัตราว่างงานลดลง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังส่งผ่านมายังการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี IMF ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่พบว่าหลายประเทศยังมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งตามปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้น อัตราเงินเฟ้อต้องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งน่าจะมาจากอัตราค่าจ้างที่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่เดิม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิต การปรับตัวกับอี-คอมเมิร์ซมีผลให้ผู้ประกอบการไม่มีอำนาจต่อรองราคาสินค้าได้เหมือนเดิม และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดการออมมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอย การบริโภค ไม่กลายเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ
สำหรับ กรณีอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนั้น มีจาก 3 สาเหตุ คือ เรื่องของอุปทาน โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง การบริโภคมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และการใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ถึงทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (1-4%) ได้ในช่วงต้นปีถึงกลางปี 2561 โดยในส่วนของกรอบเงินเฟ้อในปี 2561 ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องเสนอให้มีการทบทวนใหม่
นายวิรไท กล่าวว่า IMF ยังได้มองความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์และต้นทุนทางการเงิน ทำให้ประเทศเกิดใหม่ที่เคยพึ่งพาเงินถูก หากไม่มีการเตรียมตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยจะกระทบสภาพคล่องในประเทศได้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ คาบสมุทรเกาหลี รัสเซีย นโยบายกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงของความปลอดภัยไซเบอร์ที่รุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ IMF ยังเป็นห่วงความเสี่ยงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เรทติ้งต่ำ (Investment Grade) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังพบว่าตราสารในระดับในระดับ BBB เพิ่มมากขึ้นกว่า 50% จากเดิม 25% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน สะท้อนพฤติกรรมการไล่ผลตอบแทนในการที่สูงขึ้น โดยหลายประเทศที่ไม่เคยออกตราสาร หรือบางประเทศที่มีปัญหาก็มีการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นห่วงเรื่องความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ต่ำเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนชะล่าใจในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็จะรุนแรงมากกว่าเดิม อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไป
นายวิรไท ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาว่า ค่าเงินบาทในไตรมาส 3/2560 มีทิศทางแข็งค่าสอดคล้องใกล้เคียงกับภูมิภาค หลังจากไตรมาส 2/2560 มีทิศทางแข็งค่ากว่าภูมิภาคอยู่บ้าง เนื่องจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในขณะนี้ สะท้อนกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดี มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และการลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้น
อินโฟเควสท์