- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 19 October 2017 16:47
- Hits: 2240
ผู้ว่าธปท. ย้ำ ยังคงเป้าเงินเฟ้อที่ 1-4% ถึงปีหน้า ขณะค่าเงินบาท ยันเคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยังไม่จำเป็นที่จะต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันที่ 1-4% เนื่องจากมองว่า ในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงต้นปี-กลางปี 2561 และทำให้ธปท.ยังคงยืนยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวไว้ถึงปีหน้าด้วย ส่วนค่าเงินบาทขณะนี้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ยันไทยยังรับมือเงินไหลออกได้ แม้หลายประเทศจ่อขึ้นดอกเบี้ย ชี้ต่างชาติถือครองพันธบัตรเพียง 10% - เงินสำรองระหว่างประเทศสูง มองหุ้นไทยพุ่งแรง หลังนักลงทุนมั่นใจเศรษฐกิจ แนวโน้มหุ้นโลกสดใส
ในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ในช่วงที่ผ่านมาว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของโลกเพิ่มขึ้น โดยปีนี้มองว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.6% และในปีหน้าที่ 3.7% โดยเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยังส่งผ่านไปยังประเทศต่างๆ ผ่านการค้าต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการนำเข้าของสินค้า
แต่ทั้งนี้ ในการประชุมไอเอ็มเอฟได้ตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก และหลายประเทศทั้งในประเทศอุตสาหกรรมหลัก และประเทศตลาดเกิดใหม่อัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งเกิดจากตลาดแรงงานแม้จะมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิต แต่ค่าจ้างแรงงานยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ เช่น กำลังการผลิตส่วนเกินสูง การพัฒนาการด้านการผลิตที่หันมาใช้ออโตเมติกมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เช่น อีคอมเมิร์ซ ที่ส่งผลทำให้อำนาจในการต่อรองราคาต่ำลงจากที่ผ่านมา หรือผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้ยากขึ้น
ขณะเดียวกัน หลายประเทศยังเจอปัญหาโครงสร้างที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น จึงทำให้มีความต้องการออมเงินมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อไม่แรงเท่าที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงไทยนั้น แต่ยืนยันว่า ยังไม่จำเป็นที่จะต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันที่ 1-4% เนื่องจากมองว่า ในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงต้นปี-กลางปี 2561 และทำให้ธปท.ยังคงยืนยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวไว้ถึงปีหน้าด้วย
นายวิรไท กล่าวว่า ในระยะต่อไปนั้นไอเอ็มเอฟมองว่า มีความเสี่ยงที่ต้องจับตามองหลายเรื่อง เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมานานนั้น และธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน และราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น และทำให้กลุ่มประเทศที่เกิดใหม่ ที่เคยพึ่งพาต้นทุนทางการเงินที่ถูกได้รับผลกระทบได้
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรับสูงขึ้น จากกรณีของคาบสมุทรเกาหลี ปัญหารัสเซีย ที่จะต้องติดตามใกล้ชิดขึ้น นโยบายกีดกันทางการค้าที่ยังเป็นความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมประชุมกังวลค่อนข้างมาก การเจรจานาฟต้าที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดการปรับปรุงเงื่อนไข และการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานได้
สองความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น จากคาบสมุทรเกาหลี ปัญหารัสเซีย ที่ต้องติดตามต่อเนื่อง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไปสู่การเผชิญหน้ามากกว่าการต่อรอง นโยบายกีดกันทางการค้ายังเป็นความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมประชุมกังวลมาก การเจรจานาฟต้าต้องติดตามต่อเนื่อง บทบาทเมกา การปรับปรุงเงื่อนไขนาฟต้า การกีดกันทางการค้าหากมีรุนแรง อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานได้ เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องจับตา ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังต้องติดตามการปรับโครงสร้างทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินด้วย เพราะหากชะลอลงแรงอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ รวมถึงต้องติดตามความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงและจะอยู่กับเราไปอีกในอนาคต
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุว่า ในระบบการเงินนั้น จะต้องจับตากลุ่มนอนแบงก์ ที่เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน การมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง ทำให้เกิดความเปราะบางขึ้นในหลายจุดของระบบการเงินโลกที่จะต้องติดตามต่อไป รวมถึงต้องติดตาม เริ่มเห็นการไล่ล่าผลตอบแทนสูงขึ้น ในกลุ่มตราสารที่มีระดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ โดยปัจจุบันพบว่า มีอัตราการลงทุนในกองทุนดังกล่าวสูงถึง 45-50% จากเดิมที่ 25% ซึ่งเห็นการออกตราสารหนี้ในกองทุนที่ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่ควร
“ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เห็นหลายประเทศที่ไม่เคยออกตราสารหนี้ หรือการออกตราสารกู้เงินในต่างประเทศมาออกตราสาร หรือประเทศที่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ก็กลับมาออกตราสารได้ หรือ แอฟริกาที่ไม่เคยออกตราสารได้ก็ได้ออกตราสารได้ สะท้อนว่า เห็นการแสวงหาผลตอบแทนที่ทำให้อาจจะมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยนั้น จากที่ผ่านมามีตราสารหนี้ หรือ บีอีผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ลงทุนระมัดระวังมากขึ้น ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ จึงทำให้ปริมาณการออกตราสารปรับลดลงบ้าง”นายวิรไท กล่าว
สำหรับ มุมมองของประเทศไทยนั้น ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อระดับต่ำของไทย เกิดจากราคาสินค้าเกษตรต่ำจากฐานปีที่ผ่านมาสูงจากปัญหาภัยแล้งรุนแรง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเทคโนโลยี การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง อย่างไรก็ตาม กรณีเงินเฟ้อต่ำนั้น หลายธนาคารกลางเริ่มมองกรอบเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และมองเงินเฟ้อเป็นช่วงมากกว่ามองเลขตัวเดียว รวมถึงการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่คาด
สำหรับ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกนั้น มองว่า ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัญหานี้จะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง เราถึงจะต้องเข้าใจความเสี่ยงด้วย โดยสำหรับประเทศไทยนั้น มองว่า ปัจจุบันพึ่งพาเงินตราต่างประเทศน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยปัจจุบันตราสารหนี้ภาครัฐที่ต่างชาติถืออยู่ที่ 8.5-10% ของพันธบัตรภาครัฐทั้งหมด เทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ที่ 35% ดังนั้น มองว่า หากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นคงไม่ได้ส่งผลกับไทยมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากเงินไหลออกรุนแรง
“ตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นนั้น มองว่า ก็เป็นสถานการณ์ทั่วไปของตลาดทั่วโลก ที่เกิดจากความมั่นใจของเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนค่าเงินบาท ระบุว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 จนถึงกลางเดือนตุลาคมนี้ สอดคล้องกับภูมิภาคและสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี”นายวิรไท กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย