- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 02 October 2017 18:18
- Hits: 16625
ผู้ว่าธปท.ยันศก.ไทยปีนี้-ปีหน้าโต 3.8% พร้อมดูแลเงินบาทผันผวน ไม่ส่งสัญญาณหั่นดบ.หวั่นกระทบภาคการออมของปชช.
ผู้ว่าธปท.ยันศก.ไทยปีนี้-ปีหน้าโต 3.8% ชี้เงินบาทผันผวนช่วงนี้จากปัจจัยตปท. เพราะไม่มั่นใจนโยบายการเงินเฟด- แผนภาษีสหรัฐ ส่วนในประเทศ มีดุลบัญชีเดินสะพัดสูง -ท่องเที่ยวโตเป็นปัจจัยสำคัญ ยันพร้อมใช้มาตรการดูแลเงินบาทหากมีความจำเป็น ยังไม่ส่งสัญญาณหั่นดบ.เหตุหวั่นกระทบภาคการออม ส่วนพาณิชย์หั่นเป้าเงินเฟ้อ เป็นไปตามคาด หลังฐานปีก่อนอยู่ในระดับสูง
นายวิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่ 3.5% และในปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% จากเดิมที่ 3.7% เนื่องจากเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพะตัวเลขการส่งออกที่เริ่มกระจายตัวในทุกหมวดสินค้า และมีตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่การบริโภคเริ่มฟื้นตัวดี
ขณะที่ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลง และผันผวน เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังอยู่ต่อเนื่องในระยะต่อไป โดยสาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองที่ยังต้องจับตาดูปัจจัยสำคัญของสหรัฐ ทั้งเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด การปรับลดงบดุล แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงธันวาคมนี้ การปฏิรูปภาษีต่างๆ ขณะที่ไทยยังมีปัจจัยเฉพาะ คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการท่องเที่ยวที่เข้ามามากจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์ค่าเงินบาทมีความผันผวนนั้น ดังนั้นนักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและติดตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ทั้งนโยบายการเมือง ปัจจัยจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ค่าเงินผันผวนได้
“ส่วนคำถามว่า เพราะเศรษฐกิจดีทำให้แรงกดดันในการปรับลดดอกเบี้ยน้อยลงหรือไม่นั้น มองว่า การทำนโยบายการเงินจะต้องมอง 3 มิติ คือ เสถียรภาพด้านราคา หรือ แรงกดดันเงินเฟ้อ จะต้องไม่เร่งตัว หรือเพิ่มขึ้นเร็วจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ขณะที่เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจจะต้องทำให้การเติบโตได้ตามศักยภาพ และติดตามดูผลหรือการเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ นอกจากนี้เรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้แรงจูงใจในการออมของประชาชนลดลง ซึ่งสวนทางกับการวางรากฐานการออมในระยะยาว เพราะอาจสร้างความเปราะบางกับเศรษฐกิจในอนาคตได้”นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวถึง เงินทุนไหลเข้าในประเทศไทยนั้นเป็นการเข้ามาเก็งกำไร หรือ พักฐานในระยะสั้นหรือไม่ ระบุว่า เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยนั้น เนื่องจาก นักลงทุนมีมุมมองเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่างๆของเศรษฐกิจ และนักลงทุนบางส่วนที่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากนโยบายที่ไม่ชัดเจนได้ ทั้งเรื่องของ นโยบายเฟด การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีที่ไม่สามารถวางใจได้ ดังนั้นทำให้นักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง จึงต้องเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีความปลอดภัย หรือค่อนข้างเชื่อมั่น
แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่า เงินทุนที่ไหลเข้ามานั้น ยังน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จากการค้าขายสินค้าที่สูงกว่ารายจ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมความพร้อมในเรื่องของมาตรการที่จะนำมาใช้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น และเหมาะสม
นายวิรไท กล่าวถึงล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ลดลงเหลือ 0.4-1% ซึ่งเป็นไปตามที่ธปท.ประมาณการไว้ ว่าในปีนี้ เงินเฟ้อของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฐานปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง จากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงมาก แต่ในปีนี้สถานการณ์มีความแตกต่างกัน จึงทำให้เงินเฟ้อที่ออกมานั้นต่ำกว่าที่ธปท.ประมาณการไว้ โดยปัจจุบัน ธปท.ตั้งเป้ากรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ อยู่ที่กรอบ 1-4%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย