- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 01 October 2017 20:16
- Hits: 9101
ธปท.เผย เศรษฐกิจไทย ส.ค.โตต่อเนื่องจากส่งออก-ท่องเที่ยว แม้ลงทุนเอกชนยังทรงตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.60 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกและบริการขยายตัวดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 15.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 12.7% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ 2) สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและน้ำตาล 3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวตามการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ อุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า สายเคเบิ้ลใยแก้ว และเครื่องรับส่งสัญญาณภาพและเสียง และ 4) สินค้าเกษตร ขยายตัวตามการส่งออกข้าว ยางพาราและผลไม้การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศขยายตัวในหลายหมวด อาทิ การผลิตหมวดยานยนต์ตามยอดขายในประเทศที่ขยายตัวรวมทั้งการผลิตในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการเร่งผลิตชั่วคราวเพื่อรองรับอุปสงค์ก่อนมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 8.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติโดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่มีช่วงวันหยุดยาวจากวันชาติมาเลเซียและเทศกาลฮารีรายอฮัจญี ประกอบกับผลของฐานต่ำจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้และญี่ปุ่นขยายตัว ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยมากขึ้น
ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว จากการใช้จ่ายในหมวดบริการ และหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัวตามการใช้จ่ายในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ปรับดีขึ้นบ้าง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวชะลอลงบ้างตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมทยอยฟื้นตัวแต่ยังไม่เข้มแข็งนัก โดยรายได้นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่รายได้ในภาคเกษตรกรรมลดลงจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงแม้ผลผลิตขยายตัวสูง
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 14.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 12.5% ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการเร่งนำเข้าโลหะของผู้ผลิตเหล็กก่อนที่ราคาจะปรับสูงขึ้น และการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าวที่ขยายตัวดี 2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และ 4) สินค้าหมวดยานยนต์ ขยายตัวตามการนำเข้ารถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ สอดคล้องกับการผลิตและการขายยานยนต์ในประเทศ
สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และค่าจัดการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับบางหน่วยงานเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้า
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโดยรวมชะลอลง อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในหมวดพาณิชยกรรม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคอีสาน ยังขยายตัวได้สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.32% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.17% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังคงลดลงจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.46% ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 0.48% สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจาก 1) การลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ 2) การกู้ยืมระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และ 3) การลงทุนโดยตรงจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และเยอรมนีขณะเดียวกัน ยังมีการไหลออกเพื่อลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ส.ค.ถือว่าเป็นเดือนที่ดี ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ที่ดีขึ้นนี้ได้ถูกนำเสนอให้แก่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาประกอบ ซึ่งล่าสุด กนง.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้นเป็น 3.8% จากเดิม 3.5%
“การปรับขึ้นจาก 3.5% มาเป็น 3.8% ก็ถือว่าไม่น้อย และค่อนข้างมีนัย ส่วนหนึ่งที่ปรับขึ้นมาจากการประกาศ GDP ของสภาพัฒน์ในไตรมาส 2 อีกส่วนหนึ่งคือเราเห็นว่าข้อมูลในเดือน ก.ค. และส.ค.เป็นทิศทางที่ขยายตัวดีขึ้น ภาพรวมถือว่าใช้ได้ แต่ภาพย่อยอาจมีบางส่วนที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโดยรวมไม่ทั่วถึง" นายดอน ระบุ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวทั้งการผลิตเพื่อส่งออก และเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียน สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลังซื้อโดยรวมที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวได้จากรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังหดตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในภาคก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยรวมลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ส่วนอัตราการว่างงานยังทรงตัวเท่าเดือนก่อน
“การบริโภคภาครัฐนั้น ตัวที่ไม่ค่อยดีคือรายจ่ายลงทุนที่หดตัว เนื่องจากหน่วยงานหลักๆ มีการใช้จ่ายที่ชะลอตัว จากที่เคยเร่งใช้จ่ายไปมากในช่วงก่อนหน้า และบางหน่วยงานใช้จ่ายไม่เข้าเป้า นอกจากการลงทุนภาครัฐที่ไม่ค่อยดีแล้ว การลงทุนภาคเอกชนก็ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า" นายดอนระบุ
สำหรับ ภาวะเงินบาทที่เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงนั้น นายดอน ระบุว่า เป็นผลมาจากช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเงินทุนบางส่วนเริ่มไหลกลับ แต่ทาง ธปท.ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องของเงินทุนไหลกลับ เพราะหากเป็นเงินทุนที่เคยเข้ามาเก็งกำไรแล้วไหลกลับออกไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ยังคงมีเงินไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเพราะนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทย พร้อมมองว่า ขณะนี้ยังคงเป็นทิศทางของเงินไหลเข้า เพียงแต่เงินที่ไหลเข้าได้เริ่มชะลอตัวลงไปบ้างจากช่วงก่อนหน้านี้
“เงินที่ไหลกลับไปบางส่วน เราไม่ได้ concern เพราะถ้าเงินที่ไหลออกเป็นเงินที่เคยเข้ามาเก็งกำไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าดูจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้แล้ว ยังเห็นว่ามีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนอยู่ต่อเนื่อง จากผลของความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความแข็งแกร่ง" นายดอนกล่าว
ส่วนสามารถจะชี้ว่าเงินบาทเริ่มกลับทิศทางเป็นอ่อนค่าได้แล้วหรือไม่นั้น นายดอน กล่าวว่า คงต้องติดตามดูเงินดอลลาร์สหรัฐไปอีกระยะว่าจะยังแข็งค่าได้ต่อเนื่องนานหรือไม่
อินโฟเควสท์