- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 29 July 2017 14:07
- Hits: 4434
ธปท.ประกาศใช้เกณฑ์คุมบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล เงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบ. ได้วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า เริ่ม 1 ก.ย.นี้
ธปท.ประกาศเกณฑ์ใหม่คุมบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ลดวงเงินสินเชื่อเหลือไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ แต่รายได้ 3-5 หมื่นบาท ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ มีผล 1 ก.ย.60 เล็งแก้ ก.ม.ให้ AMC บริหารจัดการหนี้นอนแบงก์ได้ หลังพบลูกหนี้จำนวนมากไม่เข้าเกณฑ์คลีนิกแก้หนี้
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาหนี้ในภาคครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลหนี้ในภาคครัวเรือนดังกล่าว จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีเจ้าหนี้หลายราย หรือ คลินิกแก้หนี้ขึ้น
ทั้งนี้ การปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยดูแลการก่อหนี้สินของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมขึ้น เนื่องจากประชาชนเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ได้ง่าย และเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อาจส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางก่อหนี้จนเกินความสามารถช าระหนี้ของตนได้
โดยมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้รายได้ตั้งแต่ 30,000 ถึง 50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน5 เท่า และได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือร้อยละ 18 จากร้อยละ 20 ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง
ด้านมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และให้ได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การก ากับไม่เกิน 3 ราย ส าหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจะเรียกเก็บได้เพื่อให้สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้
อย่างไรก็ดี ธปท. ตระหนักถึงความจำเป็นที่ผู้บริโภคอาจต้องมีช่องทางเข้าถึงสินเชื่อในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นฉุกเฉินที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ธปท. จึงอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสามารถให้วงเงินชั่วคราวในกรณีดังกล่าวได้และให้กำหนดการจ่ายชำระคืนตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ แนวทางการกำหนดวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่กล่าวข้างต้นจะมีผลใช้บังคับกับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไปและสำหรับเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 เช่นกัน โดยจะมีผลใช้บังคับกับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภค ธปท. ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับต้องให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในกรณีที่ไม่ต้องการให้ติดต่อเพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยต้องมีกระบวนการและดูแลให้เป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้า รวมถึงในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินที่ผิดพลาดของบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องให้สิทธิทางเลือกแก่ผู้ถือบัตรเครดิตที่จะขอรับเงินคืนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากการคืนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตด้วย
"ธปท.เชื่อว่ามาตรการดังกล่าว ไม่ได้ทำให้หนี้เสียจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ แต่จะเป็นการวางรากฐานไม่ให้ก่อหนี้เสียในอนาคต โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน หนี้เสียของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 2.9% ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยธปท.จะแถลงตัวเลขทางการอีกครั้งในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ " นางฤชุกร กล่าว
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ระบุถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานคลีนิกแก้หนี้ ว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าโครงการ 39,000 ราย โดยมีผู้ผ่านการอนุมัติโครงการได้ 102 ราย และอยู่การพิจารณา 121 ราย โดยที่เข้าโครงการได้น้อย เกิดจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท SAM ไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้ ซึ่งธปท.ได้เตรียมเสนอแก้พ.ร.บ.ให้ SAM ดูแลได้ ประกอบกับลูกหนี้ยังไม่มีความเข้าใจกับมาตรการดังกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย