- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 16 August 2014 21:12
- Hits: 3045
ธปท.จะทบทวบเป้าหมายจีดีพีอีกรอบ ก.ย.นี้-เผยสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังสมดุล
ธปท.จะทบทวบเป้าหมายจีดีพีอีกรอบ ก.ย.นี้ ระบุจะนำสมมติฐานการลงทุนด้านอินฟราฯ ระยะเร่งด่วนปี 57-58กว่า 1แสนลบ.เข้าไปด้วย เผยสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายล่าสุดยังสมดุล แนะจับตา ศก.สหรัฐ-การส่งซิกขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ระบุเงินบาทช่วงนี้เคลื่อนไหวทั้งสองด้าน แต่ที่แข็งค่า 2 วันติดนี้เหตุทุนไหลเข้า-ต่างชาติเชื่อมั่น
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เดือน ก.ย.นี้ จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี โดยจะรวมสมมติฐานการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนปี 2557-2558 กว่า 1 แสนล้านบาท ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้าไปด้วย ซึ่งการลงทุนของภาครัฐ จะเป็นกลไกหลักในช่วงที่การบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และส่งผลต่อแผนการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไปอย่างชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ ธปท.ที่พบว่า การลงทุนยังคงมีสัดส่วนประมาณ 22% ของจีดีพี แบ่งเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน 17% และภาครัฐเพียง 5% นั้น ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้โดยเฉลี่ย 4.5-5% ต่อปี จำเป็นต้องมีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเป็นสัดส่วน 25-27% ของจีดีพี ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะต้องดูปัจจัยเรื่องระยะเวลาของการลงทุน และความเป็นไปได้ในการลงทุนจริงประกอบด้วย
นายจิรเทพ กล่าวต่อว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่าในต่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มมีความระมัดระวังในการดินทาง และควบคุมค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะประเมินว่าส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะประชุมครั้งถัดไปวันที่ 17 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 6 ของปีนี้ จากที่จะประชุมทั้งหมด 8 ครั้ง และจะเปิดเผยรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 26 กันยายน 2557 โดยล่าสุด ธปท.ประมาณการจีดีพีปีนี้เติบโต 1.5%
นายจิรเทพ กล่าวต่อถึงแนวโน้มกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายว่า ยังมีความสมดุลทั้งไหลเข้าและไหลออก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนได้รับข่าวกับการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE มาระยะหนึ่งแล้ว รวมไปถึงการพยายามสื่อสารเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ด้วย นอกจากนี้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานของเศรษฐกิจ การเกาะกลุ่มของนักลงทุนในภูมิภาค เป็นต้น
“หลายคนมองว่าสิ่งที่หน้าห่วงคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วจะส่งผลต่อตลาดเกิดใหม่ หรือเกิดการแครี่เทรดนั้น ไม่อยากให้กังวล เพราะจริงๆ แล้วแครี่เทรด หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้น มองว่าถ้าจะเกิดคงเกิดกับต่างประเทศมากกว่า เช่น ตลาดสหรัฐกับยุโรป หรือ ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ เป็นต้น ขณะที่ในเอเชียรวมถึงบ้านเราหากจะได้รับผลกระทบเชื่อว่าน่าจะเป็นผลผ่านทางด้านราคา หรือด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า เช่น หากสหรัฐกลับมาแข็งค่า ก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้”นายจิรเทพ กล่าว
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การปรับตัวของตลาดหลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อตลาดเกิดใหม่ และการสื่อสารของเฟดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยว่าจะเร็วกว่าที่คาดการณ์ไหม ขณะที่ในประเทศเรา มองว่าปัจจัยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ส่งผลให้ยังมีเงินไหลเข้า
ส่วนกรณีที่มีโฉมหน้า ครม.ออกมานั้นจะสร้างความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้หรือไม่ ธปท.มองว่าประเด็นดังกล่าวคงจะมีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุม 26 ก.ย.นี้
นายจิรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ยืนยันว่า เกิดจากการที่ตลาดมีการปรับตัวหลังจากวันหยุด 2 วันทำการ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบางตัวที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จากความชัดเจนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาค่อนข้างมากในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังยืนยันว่า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง คือทั้งแข็งค่า และอ่อนค่า ตามภาพรวมของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาท ที่ต้องติดตาม คือ ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างยูเครนและรัสเซียที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ยังต้องดูการปรับตัวของตลาดในการรับข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหากนักลงทุน หรือผู้ประกอบการมีความกังวล จึงอยากให้มีการทำประกันความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย