- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 02 June 2017 11:20
- Hits: 4819
ผู้ว่า ธปท. ยันไทยไม่เกิดฟองสบู่ภาคอสังหาฯ ชี้เม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นเงินเย็น-ไม่มีสัญญาณเก็งกำไร
ผู้ว่า ธปท. ยันไม่เกิดฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แน่นอน เหตุเม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นเงินเย็น ไม่มีสัญญาณเก็งกำไร ไม่ห่วงไอเอ็มเอฟแนะไทยใช้นโยบายให้ยืดหยุ่นค่าเงินบาท ชี้ข้อมูลที่ไอเอ็มเอฟมีเป็นข้อมูลเก่าตอนศก.ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนภาพรวมศก.ไทยปีนี้มั่นใจยังโตต่อตามส่งออก -การบริโภคเอกชนฟื้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผย ในงาน The greater Mekong Investment Forum ถึง ความกังวลการว่าจะเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ยืนยันไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยด้านการขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ผิดปกติและสูงจนเกินไป ขณะเดียวกันเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนดังกล่าว เป็นเงินเย็นของแต่ละผู้ประกอบการเอง และปัจจุบันมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลตอบแทนจากการระดมทุนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเงินฝาก นักลงทุนจึงให้ความสนใจ ส่วนปัญหาตั๋ว B/E ของผู้ประกอบการบางราย ผิดนัดชำระหนี้ เป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของแต่ละบริษัทเอง ไม่ได้เป็นปัญหาเชิงระบบ
"สถานการณ์ในขณะนี้แตกต่างจากปี 40 เพราะจากแหล่งเงินที่ใช้ไม่ได้เห็นการขยายตัวของสินเชื่อมากนัก และไม่พบมีการซื้อขายเก็งกำไร เงินส่วนใหญ่ เป็นเงินส่วนตัวที่นำมาลงทุน " นายวิรไท กล่าว
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ แนะนำให้ไทยใช้นโยบายค่าเงินที่มีความยืดหยุ่นกว่าปัจจุบัน เพราะไทยใช้เงินทุนสำรองแทรกแซงแทรกค่าเงินบาทจนทำให้ตลาดบิดเบือนว่า ไม่ห่วงที่ไอเอ็มเอฟมีข้อเสนอแนะ เพราะเป็นการให้ข้อมูลกับทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งเป็นเพียงการทบทวนมุมมองทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งในส่วนของไทยก็เช่นเดียวกัน แต่ช่วงของการเข้ามาเก็บข้อมูลและทบทวนประจำปี ด้านเศรษฐกิจของไทยก่อนไตรมาสที่ 1 ที่ขณะนั้นเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเหมือนปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆ จึงเปลี่ยนแปลงไป และข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นเพียงคำแนะนำซึ่งประเทศต่างๆ จะปฎิบัติตามหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงฟื้นตัวดีต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ขยายตัวดี และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัว ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงเพราะรัฐบาลบเร่งผลักดันโครงการต่างๆ อยู่ตลอด
ธปท.เผย ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ พ.ค.อยู่ที่ 52.3 จาก 49.6 ในเม.ย. หลังความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อทั้งใน-ตปท.ดีขึ้น
ธปท.เผยดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจ พ.ค.อยู่ที่ 52.3 จาก 49.6 ในเม.ย.จากความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ที่ปรับดีขึ้น ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 55.2 ลดลงเล็กน้อยจาก 55.8 ในเดือน เม.ย.
ส่วนวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ค.อยู่ที่ 52.3 เพิ่มขึ้นจาก 49.6 ใน เม.ย. ตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ ที่ปรับดีขึ้น ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการผลิตและผลประกอบการ ปรับดีขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เป็นผลจากเดือนก่อนหน้า มีจำนวนวันทำการน้อย ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำรวจในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 55.2 ลดลงเล็กน้อยจาก 55.8 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ตามองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และยอดขายที่คาดว่าจะลดลง
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯที่อยู่เหนือระดับ 50 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ดีสัดส่วนผู้ประกอบการที่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นปรับลดลงเล็กน้อย โดยดัชนีลดลงจากระดับ 55.8 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ55.2 ในเดือนนี้ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ตามองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และยอดขายที่คาดว่าจะลดลง
โดยดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ การคาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าทรงตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ตามต้นทุนราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านราคาขายในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่ปรับราคาขายจากปัจจุบัน
ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการในปัจจุบันทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนการคาดการณ์สภาพคล่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ปรับเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อที่ปรับดีขึ้น ขณะที่คาดว่าภาระดอกเบี้ยจะทรงตัว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย