WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAดอน นาครทรรพธปท.หวั่นเอกชนไม่ลงทุน กดดันจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 3.5-4% ส่วน Q1/60 มั่นใจศก.โตเกิน 3%

     ธปท.หวั่นเอกชนไม่ลงทุน กดดันจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 3.5-4% ส่วน Q1/60 คาดโตเกิน 3% ด้านศก.เดือนมี.ค.60 ยังโตต่อเนื่อง รับส่งออก -ท่องเที่ยว -ถาคบริโภคฟื้น  พร้อมคาด คาดเงินเฟ้อเม.ย.60 ต่ำกว่า 1% หลังราคาอาหารสดและพลังงานลดลง เชื่อ Q4/60 จะกลับมาอยู่ในเป้าหมาย 1-4% ยันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก หวั่นเฟดขึ้นดบ.มาที่ 1.5% เท่าไทย จะทำตลาดทุนไทยไม่น่าสนใจ 

      นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าไตรมาสแรกจีดีพีจะขยายตัวได้มากกว่า 3% กว่าเล็กน้อย โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงขึ้น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจจัยที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ทั้งการเลือกตั้งในยุโรป และนโยบายการค้าสหรัฐ ที่ต้องจับตา รวมไปถึงการลงทุนภาคเอกชนในประเทศที่ยังติดลบ และยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

      “หากภาคเอกชนยังไม่ลงทุน การที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงๆตามที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.5-4% ตามที่รัฐบาลหวังไว้ มองว่าเป็นไปได้ยากมาก”นายดอน กล่าว

     อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุน เพื่อเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนในไทยนั้นลดน้อยลง

     ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า เป็นผลจากอุปสงค์ต่างประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง การท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน การบริโภคเอกชนที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าคงทน สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน 

     อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่า 20,752 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things ชิ้นส่วนรถยนต์ และสมาร์ทโฟน สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมะนดิบ และด้านปริมาณตามการขยายตัวของการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เป็นต้น สินค้าหมวดยานยนต์ ตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลียจากการที่ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ทดแทน ขณะที่การส่งออกไตรมาส 1/2560 มีมูลค่า 56,220 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 6.6% 

     ด้านการนำเข้าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 17,843 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 22.4% ขณะที่ไตรมาส 1/2560 นำเข้ามีมูลค่า 47,406 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 15.9% จากการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น เชื้อเพลิงและโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะขยายตัว 1.1% 

      สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเกินดุล 2,576 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาสแรกดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13,319 ล้านดอลลาร์ ด้านดุลการค้าเกินดุล 2,909 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาสแรกดุลการค้าเกินดุล 8,814 ล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เนื่องจากดุลการค้าจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้เกินดุลน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 

     “ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นแม้ว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นแต่ยังสอดคล้องกับทิศทางของภูมิภาค โดยในช่วงครึ่งเดือนแรกนั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และยืนยันว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ซึ่งเชื่อว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ การส่งออกยังขยายตัวดี สะท้อนจากการนำเข้าที่เติบโตสูง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนนั้น มองว่าในช่วงเดือนเมษายนยังคงชะลอตัวลง”นายดอน กล่าว 

      นายดอน กล่าวว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 0.76% ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.62% ด้านไตรมาสแรกเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.25% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.66% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนเมษายนนี้ จะต่ำกว่า 1% และจะกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

     ด้านความคืบหน้าของมาตรการลดการประมูลพันธบัตรระยะสั้นที่ประกาศออกไปก่อนหน้านี้นั้น ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนมองไทยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงมีเงินร้อนเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้นเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้หลังจากออกมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีการโยกเงินไปสู่สินทรัพย์ระยะยาวบ้าง 

      “เราหวังว่าการออกมาตรการนี้เพื่อหวังว่าเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรจะลดน้อยลง เพราะที่ผ่านมามีเงินร้อนเข้ามาพัก เพื่อหวังที่จะทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไปมากกว่ากลไกตลาด ซึ่งเรายืนยันว่า เงินที่มาพักชั่วคราวเพื่อหวังเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ” นายดอน กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!