- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 02 April 2017 22:10
- Hits: 9986
ธปท.เผยศก.เดือนก.พ.60 ขยายตัวดี รับส่งออก -การบริโภคฟื้น คาดจีดีพีครึ่งปีแรกโต 3% ทั้งปีโต 3.4%
ธปท.เผยศก.ไทยก.พ.60 ขยายตัวดี รับอานิสงส์ส่งออก การบริโภคฟื้นตัว คาดครึ่งแรกปี 60 จีดีพีโต 3% ส่วนทั้งปีคาดโต 3.4% รับช่วงเดือนก.พ. ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคเล็กน้อย หลังนโยบายศก.สหรัฐฯยังไม่ชัดเจน ยันติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมปรับลดวงเงินการประมูลบอนด์ระยะสั้นอายุ 3 และ 6 เดือน อย่างละ 1 หมื่นลบ.ป้องกันเก็งกำไร
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากกสนส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่และรายได้ครัวเรือนดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐแม้จะชะลอตัวลง แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนศรษฐกิจได้
ในส่วนของภาคการส่งออก ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัว 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวได้ 8.4% โดยขยายตัวทั้งจากปริมาณและราคา จากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวดีจากราคาที่ปรับสูงขึ้น และอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากผู้นำเข้าจีนเร่งนำเข้าเพื่อสะสมสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และทัศนูปกรณ์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวมที่ส่งออกไปจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ที่รองรับ
ด้านการนำเข้าขยายตัว 13.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำการนำเข้าขยายตัว 11.4% โดยหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวจากสินค้าเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ และโลหะที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ด้านดุลการค้าเกินดุล 4,015 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,735 ล้านดอลลาร์ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่องนั้น จากทั้งดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดี
ในส่วนของเงินบาทที่มีความผันผวน และโน้มแข็งค่าขึ้นนั้น ยืนยันว่า ธปท.ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นในภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าจากความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม
นายดอน กล่าวว่า จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น มาจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแข็งแกร่ง ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาจากต่างชาติต่อเนื่อง และในช่วงที่ตลาดเงินโลกมีความผันผวนนั้น นักลงทุนจึงมองว่าตลาดในประเทศไทยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้น ธปท.จึงได้ออกมาตรการในการปรับลดวงเงินการประมูลตราสารหนี้ระยะสั้นอายุ 3 เดือน และ 6 เดือนที่จะออกในเดือนเมษายนลง แบบละ 10,000 ล้านบาท จากปกติออกวงเงิน 40,000 ล้านบาท
"เราออกมาตรการนี้มา เพราะมีเงินไหลเข้ามาพักอย่างในตราสารหนี้ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็หวังการเก็งกำไร จึงได้ออกมาตรการลดวงเงินลง แต่ธปท.ก็ยังมีมาตรการอื่นๆด้วย"นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวว่า การลงทุนของภาคเอกชนนั้น พบว่า ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจภาคบริการ และที่เกี่ยวเนื่องกับส่งออก สอดคล้องกับพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐนั้น รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างถนนและระบบชลประทานของ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.44% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.55% เนื่องจากมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.59% ลดลงจากเดือนก่อนที่ 0.75%
นายดอน กล่าวว่า ในปีนี้ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4% ซึ่งหากจะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ระบุว่าจะขยายตัวได้ 4% นั้นจะต้องเร่งการลงทุนของภาครัฐ ที่ปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.4% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ธปท. มองศก.ไทยเดือนก.พ.ขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออก-บริโภคภาคเอกชนขยายตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน จากผลของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่และรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงบ้าง เพราะได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง แต่ยังขยายตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนภาคการท่องเที่ยวหดตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซียที่ลดลงหลังพ้นเทศกาลตรุษจีน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อย ตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากผลของฐานสูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 การส่งออกสินค้าขยายตัวในเกือบทุกหมวด โดยมูลค่าขยายตัว 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกขยายตัว 8.4% โดยเป็นการขยายตัวของทั้งปริมาณและราคา จาก 1) การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวดีจากราคาที่ปรับสูงขึ้นและอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากผู้นำเข้าจีน เร่งนำเข้าเพื่อสะสมสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวม (IC) ที่การส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ขยายตัวดี ตามการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ ที่รองรับ Internet of Things (IoT) และชิ้นส่วนรถยนต์ 3) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และ 4) สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากการที่ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) จากสหรัฐฯ และเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ปรับลดลงบ้าง เนื่องจากสินค้าหมวดยานยนต์ แผงวงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเร่งผลิตไปในช่วงก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง
ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 11.4% โดยหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวจากมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิง โลหะ และเคมีภัณฑ์ ที่ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และการนำเข้าชิ้นส่วนแผงวงจรรวมที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าปลาทูน่า ที่ส่วนใหญ่นำไปแปรรูปเป็นปลากระป๋องเพื่อส่งออก แต่หากหักปลาทูน่า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว 1.3% ตามการนำเข้าสินค้าคงทนที่ลดลงในหมวดนาฬิกา และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และ 2) การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของกองทุน FIF ในฮ่องกง สหรัฐฯ และมาเก๊า เป็นสำคัญ
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่เพิ่มเติมจากเดือนก่อน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตดีสอดคล้องกับสินเชื่อผู้บริโภคในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำและรายได้ที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้นบ้าง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในภาคเกษตรกรรมยังค่อนข้างกระจุกอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกยาง ขณะที่กำลังซื้อนอกภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากรายได้ภาคบริการ
การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง แต่ยังขยายตัวจากปีก่อนและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนยังขยายตัวในหมวดค่าตอบแทนบุคลากรตามการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างถนนและระบบชลประทานของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน
การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจภาคบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก สอดคล้องกับพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลงทุนส่วนอื่นๆ ในระยะสั้น ยังอ่อนแอ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะที่ยังหดตัว
ภาคการท่องเที่ยวหดตัว 3.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียที่ลดลงหลังพ้นเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ส่วนใหญ่นิยมขับรถมาท่องเที่ยวในไทยยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และการอ่อนค่าของสกุลเงินริงกิต อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์เพื่อตัดผลของการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีน พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 1.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 และเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.44% ลดลงจาก 1.55% ในเดือนก่อนตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากผลของฐานสูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.0% ในเดือนก่อนเพราะมีแรงงานกลับเข้ามาหางานมากขึ้น
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 60 นี้มีโอกาสจะเติบโตถึงระดับ 4% ได้หากการส่งออกยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องนั้น ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับนั้นหากการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 5-6%
“ถ้ามูลค่าการส่งออกปีนี้โต 5-6% ก็อาจจะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะโตถึง 4% แต่ ณ ตอนนี้เรายังคิดว่าส่งออกจะโต 2.2% ซึ่งก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป" นายดอนกล่าว
สำหรับ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ล่าสุด ธปท.ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.4% จากเดิม 3.2% นั้น นายดอน กล่าวว่า การเติบโตดังกล่าวจะมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเป็นหลัก เนื่องจากครึ่งปีแรกการเติบโตทางเศรษฐกิจยังใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 59
พร้อมมองว่า ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น ถือว่าเป็นเครื่องยนต์ตัวที่ยังช้าสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ซึ่งหากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ จำเป็นจะต้องเห็นการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนที่มากกว่าระดับ 2.4% ในปีนี้ แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มเข้ามามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่ภาครัฐได้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นและลงทุนมากขึ้น
“ถ้าดูการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และภาคต่างประเทศแล้ว การลงทุนยังเป็นตัวที่ช้าสุด และยังเป็นตัวดึงเศรษฐกิจไทยอยู่...อานิสงส์ของการส่งออกยังไม่ได้ feed เข้ามาในเศรษฐกิจมากนัก ที่สำคัญครึ่งหลังของปีจะเห็นการลงทุนภาครัฐพอสมควรและชัดเจนขึ้นมาก ซึ่งจะช่วยให้เอกชนมั่นใจมาลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง" นายดอนกล่าว
อินโฟเควสท์
ชี้ศก.เดือนก.พ.ยังโตห่วงแล้งเผาผลผลิตดัชนีหุ้น Q1 ปิด 1,575
ไทยโพสต์ * ธปท.เผย เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.ยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านดัชนี MPI ปรับลดลงในรอบ 7 เดือน ห่วงภัยแล้งเผาผลผลิตวอด หุ้นปิด Q1 ยืนระดับ 1,575 จุด กองทุนซื้อมากสุด 2.7 หมื่นล้านบาท
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัว 0.7% และหากหักทองคำออก มูลค่าการส่งออกขยายตัว 8.4% มาจากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวดีจากราคาที่ปรับสูงขึ้นและอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น แต่การผลิต ภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.ปรับลดลงบ้าง เนื่องจากสินค้าหมวดยานยนต์ แผงวงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเร่งผลิตไปในช่วงก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง
ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัย พื้นฐานที่สนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำและรายได้ที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้นบ้าง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้นเช่นกัน
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนภาคการท่องเที่ยวหดตัว 3.2% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียที่ลดลงหลังพ้นเทศกาลตรุษจีน แต่หากพิจารณาจากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 1.6%
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.2560 อยู่ที่ระดับ 110.54 ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงในรอบ 7 เดือน นับจาก ก.ค.2559 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.10% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 60.67% จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันประจำปีเป็นหลัก
ทั้งนี้ สศอ.มองเห็นสัญญาณ การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐ กิจ และเชื่อว่าดัชนี MPI เดือน มี.ค.จะกลับมาเป็นบวก อย่างไร ก็ตาม มีความเป็นห่วงสถานการณ์ ภัยแล้งที่อาจรุนแรงจนส่งผล กระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร แต่เชื่อว่าภัยแล้งปีนี้ไม่น่ามีผล กระทบมากเท่าปี 2559
หุ้นไทยวันที่ 31 มี.ค.2560 ปิด 1,575.11 จุด ลดลง 4.77 จุด มูลค่าซื้อขาย 38,033.69 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายสะสม 1 ม.ค.-31 มี.ค. ต่างชาติซื้อสุทธิ 6,287.09 ล้านบาท กองทุนซื้อสุทธิ 27,499.28 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 380.39 ล้านบาท รายย่อยขายสุทธิ 33,405.98 ล้านบาท.
ธปท.เพิ่มเป้าจีดีพีปี 60 เป็นโต 3.4% จากเดิมคาดโต 3.2% เหตุส่งออกฟื้นตัว-การใช้จ่ายภาครัฐหนุน ส่วนปี 61 คงเดิมที่ 3.6%
ธปท.เพิ่มจีดีพีปี 60 เพิ่มขึ้นเป็นโต 3.4% จากเดิมคาดโต 3.2% ส่วนปี 61 คงเดิมที่ 3.6% หลังมองส่งออกปีนี้โต 2.2% - การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญ ขณะที่การบริโภคเอกชนสดใสตามรายได้เกษตรที่ดีขึ้น ฟากเงินเฟ้อทั่วไปปี 60 คาดอยู่ที่ 1.2% ลดลงจากคาดเดิม 1.5% ส่วนปี 61 คาดอยู่ที่ 1.9% สั่งจับตานโยบายการค้าสหรัฐฯ - เฟดขึ้นดบ. เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อศก. - ทำบาทอ่อนค่า
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ประจำเดือนมีนาคม 2560 ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในปี 2560 เพิ่มขึ้นมาอยู่ 3.4% จากเดิมคาด 3.2% ส่วนในปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.6% ขณะที่การส่งออกในปี 2560 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2% จากเดิมคาด 0% ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 2%
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโครงการประชารัฐสร้างไทยที่ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงกรอบวงเงินงบประมาณปี 2561 ที่สูงกว่าคาด และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เบิกจ่ายได้เร็วขึ้นแม้จะมีการเลื่อนแผนการลงทุนรถไฟทางคู่บางส่วนออกไปเป็นปีหน้าตามการทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว”นายจาตุรงค์ กล่าว
ด้านนำเข้าในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.2% ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนธันวาคม 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.8% ส่วนในปี 2561 คาดขยายตัวได้ 5.3% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดเดินดุล 36.9 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในปี 2561 คาดเกินดุล 33.1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 คาดอยู่ที่ 1.2% ลดลงจากเดิมที่ 1.5% ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 1.9% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดอยู่ 0.7% ลดลงจากเดิมที่ 0.8% ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 1%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามรายได้เกษตรที่ปรับดีขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยราคายางพาราสูงขึ้นและผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น รายได้ครัวเรือนภาคบริการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และกำลังซื้อบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังรายจ่ายผ่อนชำระตามมาตรการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง อย่างไรก็ตาม รายได้และการจ้างงานในภาพรวมอาจยังไม่ได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้ามากนัก เพราะสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ลงเหลือ 52.3 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดิมคาด 53.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 54.8 ดอลลาร์ต่อบาเรล ด้านการบริโภคภาคเอกชนปีนี้ คาดอยู่ที่ 3.4% ปี 2561 อยู่ที่ 3.6% การลงทุนเอกชนปี 2560 คาดอยู่ที่ 2.7% ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 3.1% ขณะที่การลงทุนภาครัฐ คาดอยู่ที่ 11.8% และปี 2561 คาดลดลงอยู่ที่ 7.5%
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทยอยเข้าใกล้ค่ากลางของเป้าหมาย โดยเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธปท. คือ 2.5% บวกลบ 1.5 หรือ 1-4% ตามปัจจัยต้นทุนจากราคาน้ำมันซึ่งฐานต่ำในปีก่อนและปัจจัยด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจผันผวนได้ในระยะสั้นจากผลของฐานราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นในปีที่แล้วจากปัญหาภัยแล้ง
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด อาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ค่าเงินผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำประกันความเสี่ยง เพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ตลาดการเงินมองว่า ค่าเงินบาทเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศของไทยแข็งแกร่ง เกินดุลการค้ายังเกินดุลสูง
“ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน พัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจล่าช้า เป็นต้น”นายจาตุรงค์ กล่าว
นายจาตุรงค์ กล่าวถึงการลดวงเงินประมูลพันธบัตรระยะสั้นลง 10,000 ล้านบาทนั้น มีผลทำให้ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยลดลงหรือไม่นั้น ยืนยันว่า คงไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้นเพราะผลตอบแทนของสหรัฐ หรือ Yield curve ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นยืนยันว่า ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
"ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ตั้งใจเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และหวังผลว่าจะได้เปรียบทางการค้า"นายจาตุรงค์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย