- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 12 August 2014 22:59
- Hits: 3837
'ประจิน'เพิ่มอำนาจ ธปท.ฟันแบงก์เน่า
บ้านเมือง : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แผนปฏิรูปแบงก์รัฐทั้งระบบ ล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบแผนดังกล่าวแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเตรียมส่งให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด พิจารณาในการประชุมครั้งหน้ากลางเดือนนี้
ทั้งนี้ เบื้องต้น กระทรวงการคลังได้ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเติม ในกรณีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ จากเดิมให้อำนาจ ธปท. เฉพาะการตรวจสอบแบงก์รัฐและรายงานผลกลับมาที่กระทรวงการคลังเท่านั้น ขณะเดียวกัน สศค. จะวางระบบเพื่อเปิดเผยรายงานสถานะการเงินและการดำเนินงานของแบงก์รัฐเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับที่ ธปท. เผยแพร่หลังจากได้รับรายงานจากแบงก์พาณิชย์ด้วย อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่า แนวทางการกำกับดูแลแบงก์รัฐที่กล่าวมา จะทำให้แบงก์รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ต้องระวังตัวมากขึ้น และต้องปรับตัวให้ดีขึ้น เพราะหลังจากนี้ ป.ป.ง. ป.ป.ช. และดีเอสไอ จะเข้ามาตรวจสอบ ส่วนแบงก์รัฐที่บริหารดีอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน
"ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจการเงิน เดิมกระทรวงการคลังมอบอำนาจให้ ธปท.ไม่หมด ให้แค่รายงานและตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งก็พบปัญหา แต่กระทรวงการคลังปิดเป็นความลับและไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้แบงก์รัฐบางแห่งไม่ปรับปรุงจนเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่เมื่อให้อำนาจ ธปท.ทั้งหมดแล้ว จะมีหน่วยงานกลางเข้ามาจัดการ"
นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งทาง คสช.ได้เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งกองทุนดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันงวดสิ้นปีนี้ เพื่อให้แบงก์รัฐเริ่มสมทบเงินเข้ากองทุนเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ในการนำส่งเงินให้กับสถาบันประกันเงินฝาก
นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาอัตราการจ่ายเงินสมทบโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเต็มเพดาน และไม่จำเป็นต้องสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์นำส่งให้สถาบันประกันเงินฝาก อัตรา 0.4% เพราะแม้แบงก์รัฐจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า คือมีรัฐบาลเป็นประกันแต่รับลูกค้าที่มีความเสี่ยงมากกว่าธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นก็ต้องสร้างแต้มต่อในการแข่งขันด้วย ขณะที่เงินกองทุนดังกล่าว จะเอามาช่วยพัฒนาแบงก์รัฐทั้งระบบให้แข็งแกร่งขึ้น สำหรับแบงก์รัฐที่เข้าข่ายต้องสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าวมี 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)