- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 27 March 2017 23:01
- Hits: 11581
ธปท.เร่งแก้ไขปัญหาขายประกัน พร้อมดูแลความเป็นส่วนตัวลูกค้า ยึดหลัก `ไม่บังคับ ไม่หลอก ไม่รบกวน เน้นโปร่งใส
ธปท. เร่งแก้ปัญหาธนาคารขายประกัน ยึดหลัก ไม่บังคับ ไม่หลอก ไม่รบกวน และเปิดเผยโปร่งใส พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจผลิตภัณฑ์พ่วงประกัน เงินฝาก พ่วงบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
นายรณดล นุ่มนนท์ ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผยว่า ในปี 2560 ธปท.จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขายประกันและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า โดยยึดหลัก ไม่บังคับ ไม่หลอก ไม่รบกวน และเปิดเผยโปร่งใส ซึ่งธปท.จะออกหลักเกณฑ์และเข้ากำกับตรวจสอบการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของสถาบันการเงินให้เป็นธรรมและเหมาะสม โดยยึดหลักองค์ประกอบ 9 องค์ประกอบ
สำหรับ องค์ประกอบ 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.วัฒนธรรมองค์กรและบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง 2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดกลุ่มลูกค้า 3.การจ่ายค่าตอบแทน 4.กระบวนการขาย 5.การสื่อสารและให้ความรู้พนักงาน 6.การปฏิบัติงาน การควบคุมภายใน และแผนฉุกเฉิน 7.การดูแลข้อมูลลูกค้า 8.การจัดการเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหา และ 9.การตรวจสอบการปฏิบัติงาน
ขณะเดียวกัน ธปท.จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจผลิตภัณฑ์พ่วงประกัน เงินฝาก พ่วงบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เปรียบเทียบได้และเลือกให้เหมาะกับตนเอง ขณะเดียวกัน ในปี 2561-2562 ธปท.จะให้ความสำคัญกับการติดตามการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินในเรื่องการขายประกันภัยอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการยกระดับการดูแลผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อื่น และพิจารณาการลดอุปสรรคการเปลี่ยนผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมให้ผู้เล่นในตลาดมีบทบาทช่วยผลักดันให้ระบบสถาบันการเงินไทยให้บริการอย่างเหมาะสม โดยธปท.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการขาย ประกอบด้วย 1.เอกสารประกอบการขายให้มีความชัดเจน ลูกค้าเห็นข้อดีข้อเสียของผลิตภัณฑ์ มีทางเลือกในการใช้บริการ และได้ความรู้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ดีขึ้น 2.กระบวนการขาย โดยเฉพาะ Tele-sales มีความรับผิดชอบ ไม่รบกวน 3.เอกสารสัญญา มีความชัดเจน และเป็นธรรม 4.การเปิดเผยข้อมูลใน website สามารถเปรียบเทียบได้ทั้งผลิตภัณฑ์และคุณภาพการให้บริการของสถาบันการเงิน
"ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดตั้งฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ภายใต้สายกำกับสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับกำกับดูแลและการตรวจสอบสถาบันการเงิน ด้านการให้บริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม หรือ Market Conduct รวมถึงยังได้ติดตามดูแลปัญหาเรื่องร้องเรียนของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ปัญหาจากข้อมูลต่างๆ"นายรณดล
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ตรวจสอบแบบการสุ่มตรวจสอบแบบไม่แสดงจน (Mystery shopping) เพื่อติดตามพัฒนาการของการให้บริการ เดินสายพบผู้บริหารรวมถึงเข้าตรวจสอบและสั่งการ เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงระบบงาน พฤติกรรมการขายสื่อโฆษณา สื่อประกอบการขาย ให้สถาบันการเงินมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน รวมถึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ,สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย