- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 21 February 2017 20:18
- Hits: 4288
ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษ `เพย์ออล กรุ๊ป` ให้บริการ E-Money ไม่ได้รับอนุญาต โทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบ.หรือทั้งจำทั้งปรับ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลังให้บริการ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ พร้อมเตือนประชาชน เลือกใช้บริการ E-Money จากผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ PayAll โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอปพลิเคชัน และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำ e-Money ดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่กำหนด ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการ e-Money อันเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2544 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2551 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย
ธปท. ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดตามกฎหมายดังกล่าว โดยมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
การประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money เป็นธุรกิจที่มีการรับเงินล่วงหน้าจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด และที่สำคัญมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น มีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วตามที่กำหนด และดำรงฐานะทางการเงินและสภาพคล่องเพื่อให้บริการ e-Money ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการ ต้องมีการเก็บรักษาเงินของผู้ใช้บริการที่เติมเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างรัดกุม โดยต้องฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และแยกบัญชีไว้ต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การรักษาความลับของข้อมูลผู้ใช้บริการ
ธปท.แนะนำประชาชน ร้านค้า และสถานประกอบการ ควรเลือกใช้บริการ e-Money จากผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น รวมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขของการใช้บริการและดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการได้ ที่เว็บไซต์ของ ธปท. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลขโทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail: [email protected]
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้เชิญบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด เข้ามารับทราบถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจ e-Money และ ได้แจ้งให้บริษัทหยุดให้บริการ แต่บริษัทยังไม่ได้หยุดให้บริการ และ ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามที่ ธปท.ได้ให้คำแนะนำ จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยบทลงโทษตามกฎหมายสำหรับกรณีที่เข้าข่ายให้บริการ e-Moneyy โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยในขณะนี้ได้ยื่นดำเนินคดีไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบทางเว็บไซต์ของบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด พบว่ามี นาย รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท และนายสมคิด ลวางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่ง ธปท.ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังนิติบุคคลบริษัทดังกล่าว หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของตำรวจสอบสวนต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย