- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 13 February 2017 09:02
- Hits: 4510
ผู้ว่าธปท.ระบุค่าเงิน-ตลาดหุ้นปี 60 ผันผวนตลอดปี พร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาทหากผันผวนแรงจนกระทบศก.
ผู้ว่าธปท.ระบุศก.โลกอยู่ในรูปแบบ 3 ต่ำ 2 สูงเงิน คือ การขยายตัว- เงินเฟ้อ-ดบ.ต่ำ แต่ความผันผวนของเงินทุน -เหลื่อมล้ำสูง ชี้ตลาดหุ้นปี 60 ผันผวนตลอดปี นักลงทุนจับตาเร่งปิดความเสี่ยง พร้อมเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท หากผันผวนเร็วจนกระทบเศรษฐกิจ ยันสินเชื่อแบงก์ทั้งระบบปี 59 ขยายตัวต่ำเพียง 2% ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวศก.มองแนวโน้มปีนี้เริ่มฟื้นตัว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจปี 60 บนความท้าทาย ในงาน THE WISDOM Wealth Avenue จับจังหวะโลก เจาะจังหวะการลงทุน ว่า ในปี 2560 มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดี และเริ่มมีการกระจายตัวมากขึ้น จากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ชนบท กลุ่มจังหวัด ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่ล่าสุด คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-4% ตลอดทั้งปี
“ในปีนี้ เราเปรียบเทียบเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ คือ เป็น 3 ต่ำ 2 สูง คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำและมีความเปราะบาง อัตราเงินเฟ้อยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนสูง และมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและมีเสถียรภาพ จะเป็นกันชนให้กับประเทศไทยให้สามารถรองรับกับความผันผวนทั้งในและต่างประเทศที่จะเกิดขึ้น”นายวิรไท กล่าว
โดยในปี 2560 จะเห็นตลาดเงิน ตลาดทุน เงินทุนมีความผันผวนสูงและรุนแรงในบางช่วงเวลา ดังนั้นนักลงทุน และผู้ประกอบการจะต้องปิดความเสี่ยง เพื่อป้องกันกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าและยังมีความเปราะบาง ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าในปี 2560 จะปรับตัวสูงขึ้น โดยสาเหตุของเงินเฟ้อที่ต่ำและติดลบในบางประเทศนั้น เกิดจากราคาน้ำมันที่เคยสูงในอดีตจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล ลงเหลือ 30 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งในระยะต่อไป เงินเฟ้อจะปรับตัวดีขึ้น จากกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน มีการตึงกำลังการผลิต เพื่อดูแลราคาในตลาดโลก เศรษฐกิจหลายประเทศฟื้นตัวดีขึ้น จึงทำให้อุปทานส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่วนค่าเงินบาทยอมรับว่า ในบางช่วงเวลาค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อการค้าได้ ซึ่งธปท.ยืนยันว่า พร้อมเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในบางช่วงเวลาที่เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และผันผวนสูงจนกระทบกับเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน
ด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะมีผลทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกับประเทศอื่นๆที่จะทำให้ทำเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น แต่มองว่า เงินเฟ้อทั่วโลกอาจไม่ได้ปรับขึ้นเร็ว เนื่องจากยังมีอุปทานส่วนเกินในบางอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของทรัมป์นั้น จะทำให้มีการขาดดุลงบประมาณสูง และมีการกู้ยืมเงินจำนวนมาก และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวสูงในสหรัฐ และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวทั่วโลกปรับสูงขึ้นด้วย
“มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง แม้มีความชัดเจนในเรื่องการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางที่ผ่อนปรน แต่เมื่อมีความไม่แน่นอนและตลาดการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนอ่อนไหวง่าย จึงเกินเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงินผันผวนตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นในบางช่วงเวลา ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามความผันผวนและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม”นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวว่า นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และในหลายเรื่องยังจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องของความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการเมือง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการขยายตัวของชนชั้นกลาง ซึ่งนอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด การลงทุนระหว่างประเทศ กีดกันพลเมืองประเทศอื่น ที่เราต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
นายวิรไท กล่าวถึง การขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 ที่ขยายตัวได้ 2% ว่า เกิดจากภาคธุรกิจไม่ได้มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แต่เป็นการออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้เพื่อระดมทุน ซึ่งมองว่าในปี 2560 การขยายตัวของสินเชื่อจะเพิ่มสูงขึ้น จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น บางธุรกิจจึงเริ่มมีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจบ้าง ซึ่งกนง.มองว่า สินเชื่อที่ขยายตัวในระดับต่ำไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ และยืนยันว่า สภาพการเงินยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“เอ็นพีแอล ไม่ได้เป็นตัวชี้นำ แต่เป็นดัชนีตามหลัง ที่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ในส่วนของเอ็นพีแอลก็จะลดลงตาม”นายวิรไท กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย