- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 06 August 2014 22:31
- Hits: 3021
กนง.มีมติเอกฉันท์ คง ดบ.นโยบายที่ 2% ตามคาด สนับสนุนการฟื้นตัวของ ศก. พร้อมคงจีดีพีปีนี้โต 1.5%
กนง.มีมติเอกฉันท์ คง ดบ.นโยบายที่ 2% ตามคาด สนับสนุนการฟื้นตัวของ ศก. พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 1.5% โดยมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังถือว่ามีเสถียรภาพ ระบุยังติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิด แต่ยังไม่ต้องมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ต่อปี เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังจะเป็นแรงส่งในการสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการปฏิรูปเพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
“นโยบายการเงินยังจำเป็นที่จะเป็นแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปอยู่ ดังนั้นจึงมีมติที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนที่ระดับดังกล่าว” นายไพบูลย์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปีนี้ น่าจะเติบโตใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนที่ระดับ 1.5% ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ก.ย. 57
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตัวเลขจีดีพีที่ระดับ 1.5% นั้นไม่ได้ต่ำอย่างที่หลายฝ่ายประเมิน หรือธปท.มองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาออกมาค่อนข้างต่ำ จากสถานการณ์การเมืองในประเทศ
“เราไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย หรือต่ำเกินไป แต่เพราะเรามองไปข้างหน้า ทุกอย่างเราประเมินไว้หมดแล้ว เราดูวงจรรอบ 6-12 เดือนข้างหน้า ตัวเลขเลยออกมาเท่านี้ คือ ในช่วงครึ่งปีแรกมันดูต่ำในเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มันมีปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ถ้าให้เราประเมิน 6-12 เดือนข้างหน้า เราก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ปกติที่ระดับ 5% ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ไปมันไม่ได้ซบเซา”นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายภาคเอกชน หลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย การส่งออกสินค้าฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีความล่าช้ากว่าที่คาดบ้าง ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังของปีเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศ และแรงกระตุ้นทางด้านการคลังที่จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังถือว่ามีเสถียรภาพ
“ส่งออกที่ฟื้นตัวช้ามีจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยภายในจากข้อจำกัดด้านแรงงานที่ขาดแคลย สินค้าที่เราผลิตอาจไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ขณะที่ภายนอกประเทศเศรษฐกิจโลกแม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ภาคการส่งออกโลกไม่ได้ฟื้นตัวพร้อมกันหมด”นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ระดับกว่า 82% แต่มองว่ายังเป็นระดับที่ไม่เลวร้าย เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของสินเชื่อหนี้ครัวเรือน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคประชาชน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการมาดูแล
บางประเทศระดับหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 85-100% แสดงว่าอยู่ในระดับวิกฤติ แต่สำหรับไทยนั้นก็ไม่แน่ว่าถ้าถึงจุดนั้นแล้วจะเป็นระดับที่เลวร้ายอย่างที่คิด เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับหลายอย่าง โดยเฉพาะเสถียรภาพในประเทศ ที่ยอมรับว่าเราไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด เพราะเรายังติดตามสถานการณ์ต่างๆ ความสามารถในการชำระหนี้ ประกอบกับภาคประชาชนก็มีการระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดี ที่ภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น”นายไพบูลย์
ส่วนเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป ด้านเศรษฐกิจจีนและเอเชียยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งที่สำคัญตามการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ธนาคารกลางบางประเทศในภูมิภาคเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย