- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 20 January 2017 21:14
- Hits: 8331
ผู้ว่า ธปท. รับศก.ไทยยังมีหลายปัญหากดดัน ฉุดการแข่งขัน แนะรัฐสร้างความโปร่งใส- ความไว้ใจจากประชาชน
ผู้ว่า ธปท. รับศก.ไทยยังมีปัญหาโครงสร้างต้องเร่งแก้ ทั้งการลงทุนต่ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงอายุ ขณะที่กฎหมายกว่า 100,000 ฉบับ ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัย ฉุดรั้งการแข่งขันและโอกาส แนะรัฐสร้างความโปร่งใสการทำงาน หวังสร้างความไว้ใจจากประชาชน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ว่า ในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ซึ่งถือเป็นความท้าทายหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากการลงทุนในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทย ปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ที่ขยายตัวได้ 8% และลดลงเหลือ 3-4% ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และโอกาส ที่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม
นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ที่สัดส่วนผู้สูงอายุกว่า 60 ปี จะสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการบริโภค การออมในประเทศเปลี่ยนแปลงไป ภาระการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการดูแลสวัสดิการ
ขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้างกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจาก ในปัจจุบัน ไทยมีกฎหมายมากกว่า 100,000 ฉบับ และกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัย และยังพบว่าหลายเรื่องยังฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการแข่งขัน นอกจากนี้ในบางเรื่องยังเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ และการใช้ชีวิตสูงเกินควรด้วย นอกจากนี้ กฎหมายจำนวนมาก ยังมีผลต่อกระบวนการบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพและเกิดการหาผลประโยชน์อย่างไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่ไทยจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป
ในส่วนของแนวทางการขับเคลื่อนการเงินไทย ให้เท่าทันโลกนั้น ไทยจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน และโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีแนวโน้มผันผวนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาเพื่อกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง การจัดสรรผลประโยชน์ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การกระจายโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยี การเยียวยา และการพัฒนาภาคเกษตร การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มโอกาสให้คนท้องถิ่นมีโอกาสในการตัดสินใจ ตรวจสอบมากขึ้น
การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจนั้น จะต้องให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับศักยภาพ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องยืดหยุ่น ระบบจะต้องเอื้อให้คนปรับตัวได้รวดเร็ว สามารถโอนย้ายทรัพยากรได้ง่าย ธุรกิจสามารถพลิกฟื้นได้รวดเร็ว ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ขณะที่ภาครัฐ จะต้องปรับเปลี่ยนกลไกการทำงาน เพราะที่ผ่านมาการทำงานในบางเรื่องมีการทับซ้อนกันระหว่างการดูแลของภาครัฐ และเอกชน
“ภาครัฐ มีความสำคัญมาก เพราะภาครัฐเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์ และช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ไม่สะดุด ไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยสิ่งสำคัญที่ควรปรับ คือ การ ปรับปรุงกฎหมายกฎเกณฎฑ์กติกาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งในประเทศและโลก และสอดคล้องกับกติกาที่เป็นมาตรฐานของโลกใหม่ๆ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วย”นายวิรไท กล่าว
ขณะที่ภาครัฐ ต้องปรับกลไกการทำงาน ให้มีความโปร่งใส เปิดกว้าง ตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจ ขณะที่บทบาทภาครัฐจะต้องมีประสิทธิภาพ ลดบทบาทที่ไม่จำเป็น ภาครัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุน โดยคำนึงถึงความยั่งยืน เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ถือครองสินทรัพย์สำคัญ เช่น ท่าเรือ รถไฟ สนามบิน ซึ่งหากขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนในการทำงาน อาจทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้
ผู้ว่า ธปท.รับนโยบาย`ทรัมป์` ทำตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกผันผวน สั่งจับตาก่อนประเมินผลกระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้
ผู้ว่า ธปท.จับตานโยบายศก.'โดนัลด์ ทรัมป์'ที่จะแถลงในวันนี้ ชี้ทำตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกผันผวน เหมือนตอนทราบผลเลือกตั้ง รอประเมินมาตรการกีดกันทางการค้า ก่อนประเมินผลกระทบจีดีพีไทย พร้อมให้เอกชนบริหารความเสี่ยง เชื่อนโยบายขาดดุลการค้าของทรัมป์ ทำดบ.พันธบัตรสหรัฐ - อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน พร้อมวอนนลท.อย่ากังวล บจ.เบี้ยวตั๋ว B/E ชี้ยังเหลือ B/E ที่มีศักยภาพ - พื้นฐานดีให้ลงทุนอีกมาก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในวันนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุดที่จะประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการหลายเรื่องในการสาบานตนรับตำแหน่งในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก โดยมองว่าจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน ตลาดทุน ในระยะสั้น เช่นเดียวกับช่วงผลการเลือกตั้งออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่นำนโยบายที่ประกาศไว้ไปสู่ภาคการปฏิบัติจริงนั้น มองว่า มีทั้งนโยบายที่ส่งผลดีและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตเร็ว ซึ่งไทยจะได้อานิสงส์ในส่วนดังกล่าวด้วย ขณะที่นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกันนั้น ที่จะมีการทบทวนข้อตกลงทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้
“เชื่อว่า สหรัฐมีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น มีนโยบายในการลดภาษี เพิ่มรายได้ และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลทาการค้าเพิ่มมากขึ้น ต้องอาศัยเงินกู้ยืมจากในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มองว่าจะทำให้ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก และในช่วงต้นปี 2560 ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง สะท้อนว่า ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของแนวนโยบายที่จะต้องติดตาม และบริหารจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยง เพราะจะมีความผันผวนสูง และมีความไม่แน่นอนสูง ที่เราปฏิเสธไม่ได้”นายวิรไท กล่าว
สำหรับ ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูแลไม่ให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกินไป เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แต่ทั้งนี้ ในระยะต่อไป บทความไม่แน่นอน และความผันผวนทั่วโลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่องนั้น ภาคเอกชนจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
ในส่วนผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยในปี 2560 หรือไม่นั้น ขณะนี้ธปท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ยังต้องมีรายละเอียดที่จะต้องติดตราม ว่ามาตรการจะออกมาเป็นอย่างไร ประเภทของสินค้าจะเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น
นายวิรไท กล่าวถึงกรณีที่มีบริษัทขนาดเล็ก มีการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ B/E ในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนก ตกใจ เนื่องจากเป็นผลต่อคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ได้ขยายตัวในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน ยังมีตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่มีพื้นฐาน ผลประกอบการที่ดี จึงอยากให้นักลงทุนแยกแยะ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจ และเท่าทันในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย
ส่วนในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง หรือ SWF นั้น ได้จบไปเรียบร้อยแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายรอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มีการดำเนินการต่อในเรื่องนี้แน่นอน