- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 07 January 2017 14:44
- Hits: 18552
รายงาน กนง.ระบุทิศทางเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแต่ความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มจากปัจจัยตปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 8/2559 วันที่ 21 ธ.ค.59 ซึ่งมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว และแรงส่งทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาแต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ ปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โน้มอ่อนค่าแต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ คู่ค้าคู่แข่งโดยรวม ซึ่ง กนง.ประเมินว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร
ในระยะข้างหน้า กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป กนง.เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
พร้อมกันนั้น กนง.ยังรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินซึ่งเป็นความตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. กับ รมว.คลัง โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5 ± 1.5% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 60 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวยังเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอาจส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของโลกและของไทยในระยะข้างหน้าต่ำกว่าในอดีต ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ธปท.ชี้ศก.ไทยเจอเสี่ยงเพิ่มเหตุ กนง.คงจีดีพีไว้ที่ 3.2%ลดกังวล'เงินเฟ้อ'ขึ้นแรง
ไทยโพสต์ : บางขุนพรหม * แบงก์ชาติเผยรายงาน กนง.เดือน ธ.ค.คงจีดีพีไว้ที่ 3.2% มองปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐ คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 1/2560 ระบุบาทอ่อนค่า แต่ยังน้อยกว่าคู่แข่งไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า รายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ธ.ค.2559 ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2559 และ 2560 ที่ 3.2%
โดยประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อประมาณการเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่สำคัญมาจากความไม่แน่ นอนของนโยบายด้านการค้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเดิมยังคงมีอยู่ คือ ภาคการเงินของจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าคาด และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจต่ำกว่าคาด จากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้าง จากมาตรการของ ภาครัฐที่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าคาด และนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ยังปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 และ 2560 จากผลของราคาอาหารสดที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดอย่างมีนัย โดยคาดว่าอัตราเงิน เฟ้อทั่วไปจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 1/2660 และประเมินว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจ และมีความไม่แน่นอนของประมาณการเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ตามความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและประมาณการเศรษฐกิจ
สำหรับ ช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวม ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ซึ่ง กนง.มองระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด เช่น คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสภาพคล่อง ในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยัง อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบ แทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน
โดยในระยะต่อไป กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ.
ธปท.คาดส่งออกปี 60 โต 0% ภัยแล้งคลี่คลาย-สินค้าอุตฯบางตัวฟื้น จากปีนี้คาด -0.6%
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มของการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 59 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 59 โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ 0% หรือเป็นบวกได้เล็กน้อย จากการที่เป็นช่วงฤดูกาลที่มีการส่งออกมาก ทำให้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท อย่างเช่น ฮาร์ดดิสและโซลาร์เซลล์ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น
โดยในภาพรวมของแนวโน้มการส่งออกในเดือนธันวาคมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลทำให้ตัวเลขการส่งออกรวมทั้งปี 59 เป็นไปตามประมาณการของธปท.ที่คาดว่าส่งออกจะติดลบ 0.6% ซึ่งติดลบน้อยลงจากประมาณการเดิมที่ติดลบ 2.5% โดยตัวเลขการส่งออก 11 เดือนติดลบอยู่ที่ 0.5%
ส่วนในปี 60 ธปท.ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกมาอยู่ที่ 0% จากประมาณการเดิมที่ติดลบ 0.5% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ามีจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปริมาณสินค้าเกษตรที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว และแนวโน้ของการส่งออกไปในประเทศจีนคาดว่าอาจจะมีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ได้ แต่อาจจะเป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศจีนยังเป็นการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ธปท.ประมาณการไว้ที่ 32.4 ล้านคน เป็น 32.5 ล้านคน เนื่องจากแนวโน้มของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือนธันวาคมเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ปราบปรามทัวร์ผิดกฏหมายในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนติดลบ 16.2% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งธปท.มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ ในปี 60 ธปท.คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 34.1 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มนักท่องเที่ยวจะค่อยๆทยอยกลับมาจากผลของมาตการรัฐเพื่อช่วยประคับประคองภาคการท่องเที่ยว และสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการทัวร์จีนและนักท่องเที่ยวชาวจีน อีกทั้งในช่วงต้นปียังเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งแนวโน้มของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนี่องจากไตรมาส 4/59
นายดอน กล่าวต่ออีกว่า ธปท.ยังคงประมาณกาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 และ 60 อยู่ที่ 3.2% โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวอยู่ในปี 59 แต่ในปี 60 แนวโน้มของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยกลับมาดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หากโครงการต่างๆที่เป็นการลงทุนภาครัฐเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน อีกทั้งการที่ปัญหาภัยแล้งผ่านพ้นไปส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและคาดว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 1/60 โดยธปท.ประมารการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 อยู่ที่ 1.5% จากปีนี้อยู่ที่ 0.2% ซึ่งลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2% ตามราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินในปัจจุบันยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของไทย ซึ่งสามารถรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แม้ว่าในปี 60 สถานการณ์ของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นได้อีก แต่เป็นการเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของ NPL ที่จะเพิ่มขึ้นตามหลังภาวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเริ่มนิ่งในช่วง 2 ไตรมาสข้างหน้า
ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ย.ขยายตัวดีขึ้นหลังส่งออกพลิกโตสูง, ลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงหนุนหลัก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.59 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การใช้จ่ายอุปโภคและลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่องและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงเป็นเดือนที่สองและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในเดือน พ.ย.59 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 10.1% จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัว 4.3% ในเดือนก่อน เนื่องจาก 1) ฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า 2) ปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรของจีน รวมทั้งมีการส่งออกแท่นขุดเจาะน้ำมันมูลค่าค่อนข้างสูงไปบราซิล
3) อุปสงค์ต่างประเทศในหลายสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ แผงวงจรรวม (IC) สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวตามการส่งออกแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปสหรัฐฯ หลังผู้ประกอบการจากจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย เครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวตามการส่งออก printer ไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และชิ้นส่วน compressor ไปจีน และ 4) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบซึ่งเคยหดตัวอย่างต่อเนื่องกลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ทั้งราคาและปริมาณ ทั้งนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในหลายหมวดสินค้าเช่นกันซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออก
สำหรับ มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 2.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นหลัก โดยการนำเข้าเชื้อเพลิงขยายตัวจากทั้งปริมาณเนื่องจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนและราคาที่ขยายตัวตามราคาน้ำมันดิบ สำหรับการนำเข้าโลหะขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตเหล็กแผ่นสำเร็จรูปที่ขยายตัว และการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของสินค้าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวจากผลของฐานที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าอุปปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อเตรียมการลงทุน 4G การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากโครงการคมนาคมและค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ในการเวนคืนที่ดินของกรมทางหลวงเป็นสำคัญ
ด้านรายได้จัดเก็บของรัฐบาลหดตัวจากรายได้ที่มิใช่ภาษีเป็นสำคัญเนื่องจากมีการเลื่อนนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไปแล้วในเดือนก่อนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรป รัสเซีย และสหรัฐฯ ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศยังชะลอตัว สอดคล้องกับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนักสะท้อนจากกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่ลดลงโดยเฉพาะภาคการค้า ด้านรายได้เกษตรกรยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยในเดือนนี้กลับมาหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการเก็บเกี่ยวไปเดือนหน้าในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวตามราคายางพารา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การซื้อรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้จากกำลังซื้อที่ปรับดีขึ้นของเกษตรกรสวนยางพารา และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีทิศทางปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงหดตัวและกระจุกตัวอยู่ในบางธุรกิจ อาทิ พลังงานทดแทน ที่ได้รับผลดีจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นและสินเชื่อในภาคดังกล่าวที่ขยายตัว และธุรกิจภาคบริการ อาทิ ภาคการค้าและร้านอาหาร ตามยอดจำหน่ายเครื่องทำความเย็นและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างภาคบริการและขนส่งที่ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนภาคก่อสร้างปรับดีขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปทานอสังหาริมทรัพย์แนวราบที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.60% จาก 0.34% ในเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดและราคาน้ มันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตามต้นทุนโดยรวมที่ทรงตัว และอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลลดลงจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว
สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การขายสุทธิเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) อย่างไรก็ดี เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าสุทธิจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย
อินโฟเควสท์
รายงาน กนง.ฉบับ ธ.ค.59 ระบุคงคาดการณ์ GDP ปี 59-60 แต่มองความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือน ธ.ค.59 โดยคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 59 และ 60 แต่ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่าต่อประมาณการเศรษฐกิจมีมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่สำคัญมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัว ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเดิมยังคงมีอยู่ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงในภาคการเงินของจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าคาด และ (2) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจต่ำกว่าคาด จากผลของการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้าง จากมาตรการของภาครัฐที่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าคาด และนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ กนง. ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 และ 2560 จากผลของราคาอาหารสดที่ขยายตัว ต่ากว่าคาดอย่างมีนัย อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสที่ 1/60 และประเมินว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง สอดคล้องกับความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจ และมีความไม่แน่นอนของประมาณการเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ตามความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและประมาณการเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน และ 21 ธันวาคม 2559 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 1/60 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 2.5
สำหรับ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน
กนง. มีความเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โน้มอ่อนค่าแต่ในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวม ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด เช่น คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
ในระยะต่อไป กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
SCB EIC เชื่อกนง.คงดอกเบี้ย 1.5% แม้เงินเฟ้อปี 60 เพิ่มไปที่ 2.3% จากราคาน้ำมันขาขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2560 จะเพิ่มขึ้นไปที่ 2.3%YOY โดยเป็นผลจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่จะสูงขึ้นตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกราคาน้ำมันว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ (Brent) เฉลี่ยทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 2560 จะเร่งตัวขึ้นไปที่ 1.0%YOY จาก 0.74% โดยกำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับครัวเรือนบางส่วนจะหมดภาระรายจ่ายการผ่อนชำระค่ารถยนต์หลังหมดโครงการรถคันแรก และภาระการจ่ายภาษีที่ลดลงจากระบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันการบริโภคหลายประการ ทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้าและไม่แน่นอน
พร้อมกันนี้ ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำมากและยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 2.5% +/- 1.5% และยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อไป
โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2559 เร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี มาอยู่ที่ 1.13%YOY ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2016 อยู่ 0.19%YOY ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับผลของราคาน้ำมันที่ต่ำในช่วงปลายปี 2558
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (Brent) ปรับตัวสูงขึ้นถึง 43%YOY ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศในเดือนธันวาคมปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 ครั้ง ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดที่มีสัดส่วน 16% และราคาหมวดที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วน 24% ขยายตัวต่ำกว่าเดือนก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธ.ค. และทั้งปี 2559 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 0.74%YOY สะท้อนว่าการบริโภคยังอ่อนแรงทั้งจากการใช้จ่ายของชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก
อินโฟเควสท์