- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 27 December 2016 22:48
- Hits: 10049
ธปท.60 จีดีพีโตกว่า 3.2% แนะรัฐยกระดับเกษตรลั่นพร้อมดูแลเงินบาท ยุทธศาสตร์ 3 ปีพร้อมก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ไทยโพสต์ : บางขุนพรหม *'แบงก์ชาติ' ชี้จีดีพีปี 60 มีโอกาสโตกว่า 3.2% หากปฏิรูปและยกระดับภาคการเกษตรอย่างจริงจัง จับตามีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ พร้อมดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัว ของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามที่รัฐ บาลมีความมุ่งหวังจะเห็นการเติบ โตได้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% นั้น มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระดับดังกล่าว หากมีการปฏิรูปการลงทุนเนื่องจากปัจจุบันยังมีบางภาคส่วนที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ เช่น การลงทุนภาคเอกชน โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าชะลอตัวลงกว่าอดีต หากมีการลงทุนมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น S Curve ก็จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ ขณะที่ภาคเกษตร ของไทยยังมีโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพได้ และจะช่วยสร้างประ โยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2560 มองว่าจีดีพีไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ที่ ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อน ให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้มากขึ้นนั้น ประกอบด้วย หากเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก็จะส่งผลดีมาถึงการค้าการลงทุนที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย รวมถึงโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหากในปีหน้าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล และทำได้เร็วกว่าคาดก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาดไว้
"เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง โดยจะเป็นปัจจัยจากต่างประ เทศ เช่น นโยบายด้านการค้าต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งหากใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น และประเทศอุตสาหกรรมหลักหันมาใช้นโยบายในลักษณะดังกล่าวมากขึ้นตาม ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงปัจจัยเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งของหลายประเทศที่สำคัญในยุโรป และสุด ท้ายกระบวนการที่อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสห ภาพยุโรป (Brexit) จะเริ่มมีผลในปีหน้า อาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ได้" นายวิรไทกล่าว
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่า และยังเคลื่อนไหวสอดคล้องพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ธปท.จะดูแลให้เป็นไป ตามกลไกตลาด ส่วนกรณีที่เงินบาทหากเทียบค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าน้อยกว่าจะกระทบต่อการส่งออกหรือไม่นั้น ต้องดูในภาพรวม เพราะไม่ได้แปลว่าหากบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคแล้วส่งออกจะได้รับผล กระทบทั้งภาพรวม เพราะบาง ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประ โยชน์.
ธปท.ชูแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีพร้อมก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
แนวหน้า ; นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธปท. ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของ ธปท.เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน สำหรับในช่วงปี 2560-2562 โดยเห็นว่าสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและการเงินโลกในระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดการณ์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้างและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและหนี้ครัวเรือน ตลอดจนเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเศรษฐกิจดิจิทัล
"แผนยุทธศาสตร์ 3 ปีนี้ เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางโดยความสำเร็จของการเดินทางสู่เป้าหมายนั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ตลอดจนความมุ่งมั่นและร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ธปท.มุ่งหวังว่าความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์นี้ จะสร้างประโยชน์ให้แก่ ทุกภาคส่วน เพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของไทย" นายวิรไท ระบุ
สำหรับ แผนยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยมุ่งรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะพัฒนาศักยภาพการติดตามและประเมินความเสี่ยงควบคู่ไปกับการเตรียมเครื่องมือด้านนโยบายให้พร้อมใช้อย่างทันท่วงที ตลอดจนผลักดัน ให้กลไกอัตราแลกเปลี่ยนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การพัฒนาระบบการเงิน โดย ธปท.จะส่งเสริมให้ผู้ให้บริการการเงิน รวมทั้ง FinTech มีการแข่งขัน สร้างนวัตกรรมและบริการทางการเงินดิจิทัลที่ครบวงจร รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของผู้บริการเฉพาะทาง เพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงิน นอกจากนี้ ธปท.จะขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบการเงินกับต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพขึ้น และการยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม
3.การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์นี้ให้สำเร็จ ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องยกระดับองค์กรให้ทันสมัย คล่องตัว โดยจะต้องพัฒนาใน 5 ด้านหลัก คือ 1.ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ 2.ความเป็นเลิศด้านวิจัย 3.ศักยภาพบุคลากร 4.ศักยภาพองค์กร และ 5.เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็น ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสและลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการ แต่ ขณะเดียวกันอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างคาดหวังให้ ธปท.ดูแลเสถียรภาพและส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้อย่างสมดุล
"ภายใต้บริบทดังกล่าว ธปท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งหวังที่จะวางรากฐานการทำหน้าที่ของ ธปท.เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจการเงินไทยให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั่วถึง และพร้อมปรับตัว เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล" นายวิรไทกล่าว
ธปท.เซ็น MOU ธนาคารกลางมาเลย์-อินโดฯ ส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำการค้า-ลงทุน
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจทวิภาคีว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน 2 ฉบับ ระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย กับธนาคารกลางอินโดนีเซีย และ ธปท.กับธนาคารกลางอินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความพยายามร่วมกันของธนาคารกลางในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
สืบเนื่องจากความสำเร็จของกลไกในลักษณะเดียวกัน ที่จัดทำโดย ธปท.และธนาคารกลางมาเลเซียในช่วงต้นปี 2559 กลไกนี้จะอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ โดยภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์ผ่านการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งจะมีทางเลือกในการใช้สกุลเงินในการชำระธุรกรรมการค้าหลากหลายมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาการใช้เงินสกุลหลักในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาตลาดการเงิน และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น