- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 31 July 2014 22:55
- Hits: 3563
ธปท.เผยเศรษฐกิจมิ.ย.ดีขึ้นจากพ.ค. แต่ครึ่งปีแรกคาดจีดีพีติดลบเล็กน้อย 0.5%
ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.ดีขึ้นจากพ.ค.ตามการส่งอออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนกระเตื้องขึ้น แม้นำเข้ายัง -14.1% แต่ส่งออกโต 3.8%รับทั้งปีส่งออกอาจโตไม่ถึงเป้าที่ 3% เหตุราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ด้านดุลการค้า-ดุลบัญชีฯพัดเกินดุล ขณะที่คาด จีดีพี Q2/57 หดตัวราว 0.4% ส่วนครึ่งปีหดตัว 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแนวโน้ม ศก.Q2 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังการเมืองชัดเจน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน 2557ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่สูงขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มมีความชัดเจน
"อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอละการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้า มีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงลดระดับการผลิตลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน"นายดอน กล่าว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรง และลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล
ทั้งนี้ เดือน มิ.ย.การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,527 ล้านดอลลาร์สรอ.ขยายตัว 3.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกปิโตรเคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมที่ขยายตัวสูงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสนก์ไดรฟ์ และแผงวงจรรวมยังฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากอุปสงค์จากเอเชียยังอ่อนแอ
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มิ.ย.ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าไปเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป"นายดอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในปีนี้มีความเสี่ยงที่การส่งออกจะต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ที่ 3% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการปิดโรงกลั่นน้ำมันในจีน และญี่ปุ่นที่นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการส่งที่ชะลอลงตามการส่งออกสินค้าไปยังจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่นชะลอตัวลง
ทั้งนี้ จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้า มีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ภาพธุรกิจจึงลดระดับการนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งลดระดับการผลิตลง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 15,664 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัว 14.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงเป็นสำคัญ
จากการส่งออกที่ขยายตัวมากกว่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย.เกินดุล 3,8673 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าที่หดตัวสูง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 1,838 ล้านดอลลาร์ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ขาดดุล 664 ล้านดอลลลาร์
"ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าจากการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย รวมถึงการให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออก"นายดอน ระบุ
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับคืนมา ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าคงทนยังค่อนข้างทรงตัว แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.1% ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน
การลงทุนภาคเอกชนในเดือน มิ.ย.ทรงตัวจากเดือนก่อน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.7%โดยธุรกิจยังชะลอการลงทุนใหม่ เพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายของภาครัฐ
" การลงทุนส่วนใหญ่ในเดือน มิ.ย.จึงเป็นเพียงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างยังหดตัวตามอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว"นายดอน กล่าว
โดยในเดือนนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 6.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง เนื่องจากทางการหลายประเทศยังคงระดับคำแนะนำในการเดินทางมาประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 1.6 ล้านคนหดตัว 24.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน
"เดือน มิ.ย.นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและมาเลเซียลดลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงและการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.57ช่วยให้ภาวะการท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือน"นายดอน กล่าว
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 48.0 ลดลง จากระดับ 48.6 ในเดือน พ.ค.โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 2.35% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 2.62% ตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด โดยราคาพลังงานชะลอลงจากเดือนก่อน จากการปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาทรงตัวต่อเนื่องจากนโยบายตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ แม้ในช่วงครึ่งหลังของเดือนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากความไม่สงบในประเทศอิรัก ขณะที่ราคาอาหารสดชะลอลงตามราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน)เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 1.70% ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 1.75% ตามการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้มไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปที่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในกลุ่มที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มทรงตัวตามต้นทุนการผลิต ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ
นายดอน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจให้กลับคืนมา ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากอุปสงค์ของภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกคาดว่าจะใกล้เคียงกับประมาณการเดิมที่ติดลบ 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไตรมาส 2 คาดจะติดลบ 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของไตรมาสแรกที่ติดลบค่อนข้างมากที่ 0.6% และการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่ทั้งนี้ คงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.อีกครั้งหนึ่งว่าจะฟื้นตัวมากขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวเลขอย่างเป็นทางการจะประกาศในเดือน ก.ย.นี้
“เศรษฐกิจแม้จะเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีหลายตัวที่ทำให้ผิดหวัง เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ การผลิต การส่งออกที่ฟื้นตัวช้าลง ซึ่งจะมีการปรับประมาณการหรือไม่นั้น คงต้องติดตามการประกาศตัวเลขในเดือน ก.ย.นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่เรามองตอนนี้คงไม่ได้ต่างกันมากนัก”นายดอน กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ธปท.เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.กระเตื้องขึ้นตามส่งออก-ความเชื่อมั่นเอกชนสูงขึ้น
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.57 ว่า เศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่สูงขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มมีความชัดเจน
อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้ามีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงลดระดับการผลิตลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุน โดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2/57 นายดอน กล่าวว่า คาดว่าจะเศรษฐกิจติดลบ 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จะประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกหดตัว 0.6% หรือเท่ากับเป็นการติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจให้กลับคืนมาส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มฟื้นตัว
ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่ขยายตัวได้ แต่การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากอุปสงค์ของภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ โดย ธปท.คาดว่าทั้งปีการส่งออกยังจะเติบโตต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 3% สาเหตุจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง รวมถึงสินค้าบางรายการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง
สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล
อินโฟเควสท์