- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 18 September 2016 13:18
- Hits: 2860
ผู้ว่า ธปท. เผย ศก.ไทย Q3-Q4/59 ฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งใน และตปท. แนะผู้ค้ากับจีนใช้เงินหยวนมากขึ้น
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน สัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2559 ‘มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล’ ในวันนี้ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยาย ตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 59 มาจากการบริโภคในไตรมาส 2/59 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ดีขึ้น จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการดำเนินนโยบายการคลังอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กนง.ยังพิจารณาไปถึงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต่อเนื่องของการบริโภค แต่อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ ผลการลงประชามติสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ การเปลี่ยนแปลง นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เป็นต้น
ส่วนปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยง ของการบริโภคภายในประเทศ และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ เอ็นพีแอลในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและการค้ารายภูมิภาค ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนนี้ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อดูแลสัดส่วนหนี้ดังกล่าว และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ นโนบายการคลังยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมาตรการกระตุ้นภาคการลงทุนเพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว มากกว่าการกระตุ้นบริโภคระยะสั้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแล หากเศรษฐกิจโลกไม่เป็นไปตามที่คาด ก็พร้อมนำเครื่องมือที่มีอยู่มาใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ผู้ส่งออกที่ทำการค้ากับจีน ปรับเปลี่ยนมาใช้ค่าหยวนในการทำธุรกรรมมากขึ้น เพราะนอกจากหยวนได้เข้าไปอยู่ในตระกร้าหน่วยสิทธิเบิกถอนพิเศษ หรือ SDR เคียงข้างค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ และเงินเยน ซึ่งจะผลต่อการค้าขายของโลกมากขึ้นแล้ว ปัจจุบันค่าเงินหลักของโลกยังมีความผันผวนมากขึ้น หากผู้ส่งออกไทยมาใช้ค่าเงินหยวนมากขึ้นจะลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ด้านการทำงานของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มดีขึ้น และที่ผ่านมายังพยายามออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะเรียกกลุ่มผู้ให้บริการรับฝากพันธบัตร หรือ คัสโตเดียน มาชี้แจงถึงการลงทุนในพันธบัตรของต่างชาติ ว่าเป็นการลงทุนประเภทใด และลงทุนในระยะสั้นหรือยาว เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างมประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ผู้ว่าธปท.แนะยุค ศก.ดิจิทัล เน้นวางแผนใช้ข้อมูลสร้างงานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายให้เหมาะสม
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเปิดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2559 ในหัวข้อ“มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล"ว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษเพราะอยู่ในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล หรือยุค ‘Data Revolution’ อย่างแท้จริง เป็นข้อมูลในมิติใหม่ที่มีความพิเศษทั้งในด้านความเร็ว ความลึก ความกว้าง และความหลากหลาย
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางโลกดิจิทัลที่มีข้อมูลรูปแบบใหม่และหลากหลายนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ความครบถ้วน และความแม่นยำของข้อมูลสถิติที่พึ่งพามายาวนาน เช่น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่นับวันจะยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้นในการวัดมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ การเกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังบน Youtube หรือการโทรศัพท์ผ่าน Line หรือ Skype ซึ่งในอดีตกิจกรรมพื้นฐานลักษณะนี้เคยถูกนับรวมในตัวเลข GDP หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างการประกอบธุรกิจกับกิจกรรมส่วนตัวที่เลือนลางลงเรื่อย ๆ ทำให้การวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูลสถิติให้ทันต่อบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูลนี้ ผู้ดำเนินนโยบายต้องเผชิญกับคความท้าทายหลักอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่1) การปรับปรุงข้อมูลสถิติของภาครัฐให้ครบถ้วนทันสมัย สามารถรองรับโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง และ 2) การใช้ประโยชน์ทั้งจากข้อมูลที่มีอยู่เดิมและข้อมูลรูปแบบใหม่อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้านอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแนวนโยบายให้ถูกต้องและเหมาะสม
ในการก้าวข้ามความท้าทายทั้งสองประการนี้ งานวิจัยมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง หัวใจของงานวิจัย คือ การสังเคราะห์สิ่งที่เป็นแก่นสารออกมาจากสิ่งที่เป็นปรากฎการณ์ การแยกแยะความสัมพันธ์ออกเป็นสิ่งที่เป็นเหตุและสิ่งที่เป็นผล งานวิจัยจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแปลงข้อมูลที่บางครั้งดูเหมือนจะท่วมท้นให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายโลกทัศน์ของเราได้อย่างเท่าทัน
"ผมขอเน้นว่าเราไม่ได้สนใจข้อมูลด้วยตัวมันเองตามลำพัง ข้อมูลไม่ใช่ความรู้แต่เป็นเพียงทางผ่านสู่การเรียนรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น กระบวนการสกัดและสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวข้อมูลเอง เราต้องตระหนักถึงศาสตร์ทางสถิติรวมทั้งข้อจำกัดของข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการนำปสู่ข้อสรุปที่บิดเบือน ในยุคแห่ง Big Data เราต้องไม่ลืมว่า ‘ปริมาณข้อมูล’ ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ความครอบคลุมของกลุ่มตัวอย่าง ความสมบูรณ์ของข้อมูล รวมทั้งการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องนั้นสำคัญยิ่งกว่า"
ประเด็นเหล่านี้เป็นข้อเตือนใจว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ท่วมท้นนั้นไม่ได้ง่ายเสมอไป และต้องทำอย่างระมัดระวัง การที่โลกก้าวสู่ยุคแห่งข้อมูลจะสร้างโอกาสมหาศาลในการรังสรรค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณประโยชน์นานัปการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งโดยแก่นแท้แล้วคือศาตร์แห่งการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อเราสามารถวัดพฤติกรรมมนุษย์อย่างที่ไม่เคยวัดได้มาก่อน ทั้งในแง่ความถี่ ความละเอียด และความรวดเร็วจาก digital footprint โอการในการที่จะเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้และเท่าทันย่อมสูงขึ้นมาก
ผู้ว่า ธปท. กล่าวต่อว่า ในแง่ของนโยบายเศรษฐกิจ มองว่าการปฏิวัติข้อมูลจะช่วยเสริมการดำเนินนโยบายในอย่างน้อยน้อย 3 มิติด้วยกัน คือ (1) ช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การออกแบบมาตรการภาครัฐสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมได้รอบด้านครบถ้วน และรวดเร็ว (2) ความสามารถในการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น จำจากความเข้าใจโครงสร้างในระดับจุลภาค ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายในภาคปฏิบัติและลดจุดรั่วไหล และ (3) การประเมินประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยปรับปรุงนโยบายให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การเปิดเผยข้อมูล หรือ ‘open data’ สาเหตุหนึ่งที่สหรัฐอเมริกามีงานวิจัยจำนวนมากเป็นเพราะว่านักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าที่อื่น โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ แทนที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะเก็บข้อมูลของตนไว้เพื่อการทำวิเคราะห์วิจัยภายในเอง การเปิดโอการให้นักวิจัยภายนอกสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้จะเพิ่มพลังแห่งการเรียนรู้ได้แบบเท่าทวีคูณ
โครงการ Smart City ทั่วโลกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการสาธารณะ เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นเกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง และสามารถแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานรัฐได้โดยตรงผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการหล่อหลอมพลังของประชาชนเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ของสังคม
"หวังว่างานสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันไปสู่การยกระดับของการประยุกต์ใช้ข้อมูลในการดำเนินนนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ เมื่อเราสามารถวัดได้ จับต้องข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงได้ เราจะสามารถวิเคราะห์ วางแผนปฏิบัติ ติดตามผล และปรับเปลี่ยนนโยบายได้ออย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ที่ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจะร่วมกันยกระดับและสร้างความแตกต่างให้กับสังคมไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่ำงแท้จริงและยั่งยืนในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล" ผู้ว่า ธปท. กล่าว
อินโฟเควสท์