- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 28 July 2014 20:06
- Hits: 3915
ผู้ว่า ธปท.เผยที่ประชุม EMEAP มองผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของอีซีบี มีน้อยกว่าเฟด
ธปท.เผยประชุม EMEAP เสาร์ที่ผ่านมา เพื่อหารือผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ระบุที่ประชุมประเมิน น้ำหนักของผลกระทบจากมาตรการผ่อนคลายของนโยบายการเงินเฟด มีมากกว่าของอีซีบี
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และนายวิคเตอร์ คอนสแตนซิโอ รองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)ร่วมแถลงข่าวเมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 ก.ค 2557หลังการประชุมร่วมผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกตะวันออก (EMEAP) และธนาคารกลางที่ใช้สกุลเงินยูโร (Eurosystem)ว่า เป็นการประชุมเพื่อหารือในสิ่งที่มีความสนใจร่วมกันถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ส่งผลข้ามประเทศ และแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มสมาชิก
ทั้งนี้ สมาชิกของที่ประชุมธนาคารกลางเอเชียแปซิฟิกตะวันออก (EMEAP) มี 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย,สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และประเทศไทย ส่วนสมาชิกธนาคารกลางยุโรปที่ใช้สกุลเงินยูโร ประกอบด้วย อีซีบี และธนาคารกลาว 18 ประเทศในยุโรป
นายวิคเตอร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันครั้งที่ 7 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การฟื้นตัวยังดำเนินไปอย่างแข็งขัน ส่วนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ถือเป็นสิ่งไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ก็เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น จึงมีการหารือเพื่อหาทางป้องกันผลกระทบที่จะขยายวงไปสู่ประเทศอื่นๆ เช่น การป้องกันการเคลื่อนไหวเงินทุนข้ามประเทศ โดยจากบทเรียนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็มีสถาบันต่างๆ รองรับให้การดำเนินมาตรการเหล่านี้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เช่น ในกลุ่มยุโรโซนมีสหภาพธนาคาร (banking union) ซึ่งเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพและเป็นกลไกดูแลสังคมทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมได้ถกและอภิปรายถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา กับผลกระทบต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้
นายประสาร กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการถกอภิปรายถึงการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป เหมือนกับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี จากการอภิปรายก็เห็นว่า น้ำหนักของผลกระทบจากมาตรการผ่อนคลายของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะมีมากกว่าของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
โดยมีเหตุผล 3 ประการ กล่าวคือ 1) ด้วยขนาดวงเงินที่ซื้อตราสารทางการเงินของยูโรโซนน้อยกว่าของธนาคารกลางสหรัฐมาก 2) มาตรการของอีซีบีทำผ่านระบบของธนาคารพาณิชย์มากกว่าตลาดทุนในสัดส่วน 80:20 ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์มีกลไกกำกับดูแล เช่น มาตรการดูแลสถาบันการเงินที่เรียกว่า macro prudential อยู่ด้วย และ 3) การดำเนินการของธนาคารกลางยุโรปตอนนี้ เกิดขึ้นในเวลาที่พอเหมาะพอสม คือมาในเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเหล่านั้นมีระดับเงินกองทุนที่ลดลงและส่งผลกระทบต่อปริมาณการให้สินเชื่ออยู่ ดังนั้นการมีมาตรการการเงินของอีซีบี จึงช่วยถ่วงดุลกับสถานการณ์นี้
"แต่ภาคการเงินที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของอีซีบีหรือของรัฐ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน"นายประสารกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย